ฉันพลาดอะไรไป ไลค์แอนด์แชร์
เมื่อสื่อออนไลน์กลายเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิต ในด้านบวกสื่อออนไลน์ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ในวันที่ต้องเผชิญกับโรคระบาด ตรงกันข้ามการใช้สื่อออนไลน์ได้ส่งผลกับความคิดและพฤติกรรมในการใช้สื่อกระทั่งก่อให้เกิดเกิดปัญหาทางสุขภาวะ
FOMO Fear of Missing Out คือ อาการของคนที่กลัวตกข่าว ตกกระแส กลัวไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่ได้เป็นคนสำคัญ จึงแสดงเป็นพฤติกรรมเช็คข่าวสารตลอดเวลา ฉันต้องรู้ก่อนใคร ฉันต้องได้ยอดไลค์ เมื่อไม่เป็นไปอย่างนั้น จะรู้สึกเครียด โดยผู้ที่อยู่ในภาวะดังกล่าวอาจไม่รู้ตัว เพราะ FOMO มีลักษณะเป็นวงจรพฤติกรรม ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และค่อยๆ กระทบกับบุคลิกภาพและการใช้ชีวิต
เพราะอะไรจึงกิดปรากฏการณ์นี้ได้มากในวัยรุ่น?
ความเชื่อเกี่ยวกับสื่อของวัย Gen Z
สื่อคืออวัยวะ จากการทำงานกับเด็กๆ ได้พบรูปแบบความคิดเข้มงวดชนิดนึงคือ “ชีวิตแค่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกซ์กับอินเทอร์เน็ตก็อยู่รอด” “รู้ไหมใช้แค่เน็ตกับคอมก็ทำเงินได้มากกว่าผู้ใหญ่หาเช้ากินค่ำ” ความคิดเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่า นับวันความเชื่อต่อพลังของสื่อออนไลน์มีความเข้มข้นมากขึ้น จากยุคก่อนที่เคยเชื่อว่าสื่อออนไลน์เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญพอๆ กันกับปัจจัยสี่ แต่ในยุคนี้ เด็กไม่น้อยที่ยกให้สื่ออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการดำรงชีวิต
สอดคล้องกับรูปแบบความเชื่อเรื่อง การใช้สื่อคือสิทธิส่วนบุคคล ทำให้กติกาต่างๆ ในการใช้สื่อภายในบ้านและโรงเรียนถูกสั่นคลอน เพราะสื่อออนไลน์ให้คุณค่าในความเป็นตัวตน และเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ แต่ละคน ซึ่งอาจไม่ได้หมายรวมถึงการจะใช้ที่ไหนเวลาใดก็ได้ แต่เมื่อเด็กๆ เหมารวมว่า การใช้สื่อคือสิทธิส่วนบุคคล ก็มักทำให้เด็กมีพฤติกรรมการใช้สื่อไม่ถูกที่ถูกเวลาสร้างความรบกวนกิจวัตรหลักที่ต้องทำให้ประสิทธิภาพลดลง
อีกทั้งในการเรียนรู้ทำให้เกิดความเชื่อว่า ข้อมูลเป็นขุมกำลังของการพัฒนา โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด 19 ทำให้ระบบการเรียนต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบออนไลน์ การเข้าถึงข้อมูลผ่านออนไลน์ยิ่งตอกย้ำให้เกิดความเชื่อว่า “ออนไลน์คือแหล่งความรู้สำคัญ” เพราะฉะนั้นการไม่รู้สิ่งใดๆ ในออนไลน์อาจเท่ากับความไม่รู้เท่าทันโลก ?
สมองวัยรุ่น
อาการนี้เกิดขึ้นได้ทุกวัย พบมากในช่วงวัยรุ่น เพราะสมองส่วนการเรียนรู้อารมณ์ทำงานเต็มที่ แต่สมองส่วนยับยั้ง หรือเหตุผล มีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่ากับส่วนอื่นๆ ทำให้เกิดการผูกพันกับกิจกรรมที่ใช้อารมณ์เป็นตัวตั้งมีแนวโน้มกลายเป็นภาวะของการเสพติด โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ให้คุณค่าทางอารมณ์ในระดับสูง ง่ายต่อการเข้าถึง มีการเปลื่ยนแปลงและเคลื่อนตัวของข้อมูลหรือเทรนภายในชั่วข้ามคืนหรือในบางกระแสก็แค่ข้ามวัน สมองวัยรุ่นจึงสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะติดพันกับการใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างไร้การยับยั้ง
พัฒนาการทางสังคม
ที่ต้องการได้รับการโต้ตอบจากคนอื่นๆ และโลกใบนี้ว่า “ฉันเป็นใคร” ผ่านการได้รับการยอมรับว่า “ฉันเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ชอบและถนัดคล้ายๆ กัน ทั้งยังมีความต้องการที่จะรู้และเข้าใจว่าโลกใบนี้เป็นอย่างไร ผ่านการค้นหาข้อมูลและความรู้ต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์ และมากกว่านั้นยังใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารอัตลักษณ์ของตนไปสู่คนอื่นสอดคล้องกับความเชื่อว่าสื่อเป็นส่วนสำคัญในชีวิตและมีสิทธิ์ในการรับสารและส่งสารผ่านสื่อออนไลน์
ผู้ที่อยู่ในภาวะ FOMO ต้องทำอย่างไร
1.รู้ทันตนเอง ยอมรับได้ว่า ปัจจุบันที่กำลังมีความสุขกับการใช้สื่อออนไลน์ในปริมาณที่มาก หากปล่อยให้ตนเองอยู่ในภาวะแบบนี้นานๆ อาจต้องประสบกับความทุกข์ในอนาคต อันได้แก่ ความโกรธเมื่อไม่เป็นดั่งหวังจะเกิดขึ้นได้ง่าย ความเครียดที่พยายามมากกับการสร้างตัวตนในออนไลน์ที่กว้างใหญ่และควบคุมได้ยาก ความเศร้าที่ตัวตนในโลกออนไลน์นั้นไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เพียงทำความเข้าใจสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น และระลึกเสมอว่าการกล่าวโทษตนเองไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
2.กระจายการใช้สื่อออกไปกับกิจกรรมอื่นนอกเหนือการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม BARS
B (bio care) อาทิ ใช้แอปพลิเคชั่นในการออกกำลังกาย เต้นตามจังหวะ และควบคุมอาหาร
A (Achievement) อาทิ ใช้แอปพลิเคชั่นในการทำบัญชีประจำวัน แอปพลิเคชั่นสอนภาษา วาดรูป อ่านหนังสือ ดนตรี
R (Relax) อาทิ เสียงบรรเลง แอปพลิเคชั่นฝึกสมาธิและการผ่อนคลาย กิจกรรม Interactive : Unwind Your Mind ในเน็ทฟริก
S (Social Interaction) โหมดนี้ทำมากอยู่แล้วประคองให้ไม่มากไปกว่าเดิม ทั้งการรับข่าวสาร การรับรู้เรื่องของผู้คน และการแสดงออกตัวตนในโลกออนไลน์
3.จากนั้นเชื่อมกิจกรรมจากออนไลน์ ไปสู่ออนไซด์ ไปสู่การเดินออกกำลังกายในสวนที่เท้าได้แตะกับสนามหญ้า ลมปะทะใบหน้า การฝึกความสามารถทางดนตรี วาดรูปเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่คาดหวังผลแบบดีเลิศ การผ่อนคลายที่หาได้จากสิ่งรอบตัว เครื่องดื่มที่ชื่นชอบ อาหารที่ถูกปาก สถานที่ที่ถูกใจ และออกไปพบปะผู้คนตัวเป็นๆ ให้ได้เห็นโลกใบกว้างอีกครั้ง
สุดท้ายยังมีแอปพลิเคชั่นหลายชนิดที่ช่วยให้เรากำกับตนเองในการใช้สื่อได้มากขึ้น อาทิ
Forest : Stay focused ที่จำนวนและชนิดต้นไม้ที่จะปลูกได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเวลาที่หยุดใช้โทรศัพท์มือถือ
Instar Paper ที่สามารถให้ผู้ใช้ที่สนใจในข้อมูลบนโลกโซเชียลมีเดียได้บันทึกข้อมูลในไว้ในอุปกรณ์ของตน โดยไม่ใช้การอ่านจากโซเชียลมีเดียโดยตรงเพื่อป้องกันการตกหลุมพรางของอัลกอริทึม (Algorithm)
และหมั่นคอยย้ำเตือนตัวเองว่า “แผนดีแค่ไหนก็ผิดพลาดได้ : ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควรระลึกรู้ทันความคิดแบบ 2 Step Forward 1 Step Back อาจช่วยให้ไปถึงเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมากกว่าความคิดชนิดเข้มงวด” เพราะเข้มงดเกินไป เครียดมากไป ก็อาจกลับมาใช้สื่อออนไลน์คลายเครียด
4.หาความหมายที่แท้จริงในสิ่งที่จะได้จากการใช้สื่อ อาทิ ความเชื่อในความสามารถ การเป็นที่ยอมรับ ความสัมพันธ์
ด้วยคำถามปลายเปิดว่า ถ้าไม่รู้เรื่องนี้เท่ากับเราเป็นคนยังไง อาทิ เป็นคนโง่ เป็นคนตามคนอื่นไม่ทัน
ด้วยคำถามปลายเปิดว่า ถ้าไม่ได้การกดไลค์เท่ากับฉันเป็นคนอย่างไร อาทิ ฉันไม่เป็นที่ชื่นชอบ หรือสมควรได้รับการยอมรับ
ด้วยคำถามปลายเปิดที่ว่า ถ้าไม่มีใครคุยด้วยในออนไลน์เท่ากับฉันเป็นคนอย่างไร อาทิ ฉันไม่มีเพื่อน ไม่มีใครอยากคบฉัน
5.พิสูจน์ความเชื่อเหล่านั้นว่าจริงหรือไม่ผ่านการค่อยๆ ทบทวน และทำให้กระจ่างมากขึ้น ด้วยการลงมือค้นหาตัวเองบนโลกจริงดูบ้างว่า
…ฉันมีความรู้ความสามารถอะไรบนโลกจริง ฉันลงมือทำอะไรเล็กน้อยได้บ้างแม้ไม่ได้รู้ข่าวบนโลกออนไลน์เลยแม้แต่น้อย
…ฉันมีสิ่งใดน่าชื่นชมบนโลกของความเป็นจริง รอยยิ้ม ความมีน้ำใจ ความเสียสละ หรือแม้แต่ความตั้งใจในการพักจากการใช้สื่อออนไลน์ในบางเวลา
..ฉันมีใครที่สนใจสิ่งเดียวกัน ถนัดคล้ายกัน ปลอดภัย และน่าไว้ใจ ในโลกของความเป็นจริง
คนรอบข้างจะช่วยเหลืออย่างไร
1.ไม่รีบเร่งจนเกินไป เพราะทุกคนล้วนต้องการเวลาในการปรับตัว โดยเฉพาะวัยรุ่นต้องใช้เวลา ในการสงบตนเองจากความสนใจในรูปแบบออนไลน์ มาสู่ปฏิสัมพันธ์เดิมบนโลกจริง ผู้ใหญ่ระมัดระวังสีหน้า ท่าที น้ำเสียง หรือคำบางคำที่ทำให้ตีความได้ว่า “เรากำลังฉุดกระชากเขาออกจากโลกออนไลน์”
2.รับฟังความรู้สึก ทั้งจากเรื่องราวที่เด็กๆ เล่า และภาษากายของเขา ทั้งความรู้สึกสนุกกับโลกออนน์ที่กำลังดำเนินอยู่ และความรู้สึกหวาดหวั่นไม่แน่ใจกับการออกมาใช้ชีวิตใหม่ๆ ในโลกใบเดิม เพื่อรักษาความสัมพันธ์ สร้างพื้นที่ปลอดภัย และเป็นโอกาสได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ
3.สื่อสารออกไปด้วยหัวใจที่เข้าใจ I message คือสัญลักษณ์ของหัวใจที่เข้าใจ เพราะเป็นการสื่อสารที่บอกความรู้สึกเป็นห่วง กังวล จากผู้ใหญ่ให้เด็กๆ ได้รับรู้มากกว่าการพยายามเพ่งเล็งไปถึงสิ่งที่เด็กกำลังทำอยู่และประเมินว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เพราะการทำอย่างนั้นคือการสร้างกำแพงระหว่างกัน ทำให้เด็กๆ ไม่อาจทันได้รับรู้ความปรารถนาดีจากเรา ทำได้เพียงรับเอาความเชื่อว่า ผู้ใหญ่ตำหนิเขา หรืออาจมองไปว่า “ผู้ใหญ่เป็นผู้ล้าหลัง”
หลังจากเชื่อได้ว่าเราสงบได้มากพอ เด็กผ่อนคลายและเปิดโอกาสให้เราได้เข้าใจสิ่งที่เขากำลังสนุก ผู้ใหญ่ค่อยๆ เข้าใจโลกของเด็กๆ และหา “ความน่าสนใจของโลกเสมือนนั้น” ว่ามีสิ่งไหนน่าสนใจ เพราะอะไร และสิ่งนั้นมีคุณค่ากับเด็กๆ แค่ไหน อาทิ สิ่งนั้นทำให้เขาเชื่อในความถนัดและความสามารถ สิ่งนั้นทำให้เขาได้รับการอมรับ สิ่งนั้นทำให้เขารู้สึกปลอดภัยและเป็นที่รัก
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น