ความกลัวที่ค้างคาใจ กับโอกาสในการพัฒนาทักษะในการจัดการอารมณ์
จากเรื่องราวทางสังคมในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงติดตามข่าวสารและมีอารมณ์ร่วมกับข่าวค่อนข้างมาก หลายคนมีความคิดเห็นต่อตัวของผู้กระทำ หลายคนพูดถึงระบบของบ้านเมือง และมีไม่น้อยที่ส่งใจไปถึงที่เกิดเหตุให้กับครู ผู้ปกครอง และเด็กๆ ให้ผ่านเรื่องราวร้ายๆ นี้ไปได้ด้วยดี
PTSD มาจากคำว่า Post-Traumatic Stress Disorder หรือความผิดปกติทางจิตใจหลังได้รับอันตราย ซึ่งอาจต้องเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงมากพอที่ทำให้เกิดปัญหาด้านจิตใจและการปรับตัวอย่างเรื้อรัง มากกว่าการสูญเสียตามที่พบปกติในชีวิตประจำวัน เป็นสถานการณ์ที่เครียดมากจนก่อให้เกิดความกลัว (fear) ความหวาดหวั่นอย่างรุนแรง (horror) และความคิดว่าไม่มีสิ่งใดหรือแม้แต่ตนเองจะช่วยให้เหตุร้ายดีขึ้น (helplessness)
ระยะของผู้ที่ประสบกับความรุนแรง
ระยะช็อค เกิดความรู้สึกกลัว เครียด สับสน แสดงพฤติกรรมเงียบเฉย ขาดการตอบสนอง ไม่แจ่มใสร่าเริง โดยสิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงแรก
ระยะหวาดหวั่น เป็นระยะที่เริ่มมีเนื้อหาความคิดต่อสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกกลัว หยุดคิดได้ยาก ทำให้เกิดการขาดสมาธิ และถามคนรอบข้างเกี่ยวกับอันตรายที่จะเกิดขึ้น
ระยะทบทวน เกิดปรากฏการณ์ทางความคิดความรู้สึกที่คิดวนถึงเหตุการณ์เดิมซ้ำๆ เหมือนกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีสิ่งที่คล้ายกับเหตุการณ์เดิม อาทิ เสียงคนร้องตะโกน เสียงคลื่น การวิ่งไปทิศทางเดียวของคนจำนวนมาก มักทำให้ย้อนคิดถึงประสบการณ์รุนแรงนั้นได้อย่างสมจริง (Flash back) บางคนเห็นภาพ ได้ยินเสียง หรือเสมือนได้กลิ่นเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น โดยมักมีอาการทางกายหลายอย่างเกิดร่วมด้วย เช่น มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออก กลืนน้ำลายได้ยาก บางคนก็พบว่าฝันร้ายซ้ำๆ กับเหตุการณ์ที่ผ่านมา
ระยะหลีกเลี่ยง ซึ่งเกิดได้หลังทำความเข้าใจได้ระยะหนึ่งว่า ต้นเหตุของความกลัวมาจากที่ไหน อย่างไร อาทิ เข้าใจได้ว่าคลื่นยักษ์เกิดจากทะเล แต่ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่าคลื่นยักษ์ได้เกิดและจบไป และอีกทั้งยังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดอีกในระยะเวลาอันใกล้ แต่จะเชื่อว่าหากเข้าใกล้สิ่งนั้น สถานที่นั้นจะเกิดอันตราย จึงใช้การหลีกหนีในการลดความกลัว หากเกิดต่อเนื่องกันมากกว่า 4 สัปดาห์ อาจกระทบกับความสามารถในการจัดการอารมณ์ และใช้ชีวิต
แต่พบได้ว่า … ไม่ใช่ทุกคนที่ปรับตัวกับเหตุรุนแรงและจะเกิด PTSD
ปัจจัยอะไรบ้างที่จะช่วยเหลือ หรือ ป้องกันการเกิด PTSD หลังเด็กได้รับ traumatic event
1.ปัจจัยเฉพาะบุคคลของเด็ก เด็กบางคนสามารถสงบประสาทสัมผัส ความคิด และอารมณ์ได้ไว ตรงข้ามกับเด็กบางคนที่ตื่นตัวง่าย คิดวนซ้ำ หรือขาดทักษะในการเล่าระบายอารมณ์ ในเด็กที่พูดระบายความรู้สึกได้น้อยอาจใช้กิจกรรมที่ได้ระบายโดยไม่ต้องมีทักษะทางภาษามากนัก อาทิ ศิลปะ การ์ตูนภาพ ละครโรงเล็ก
2.ครอบครัว หากได้รับการดูแลด้านจิตใจ การยอมรับกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีเงื่อนไข อยู่เคียงข้างในยามที่เด็กๆ กำลังหวาดหวั่นการใช้ชีวิตกับสิ่งที่ไม่คาดคิด จะมีส่วนช่วยในการสงบอารมณ์ จัดการความคิด และผ่อนคลายอาการทางร่างกาย ไม่ตำหนิหรือกล่าวโทษใครคนใดคนหนึ่งว่ามีความผิด ซึ่งทั้งหมดนี้คนในครอบครัวต้องอาศัยทักษะในการรู้เท่าทันและจัดการอารมณ์ตนเองก่อนเข้าให้การช่วยเหลือเด็ก เพราะหากผู้ปกครองเองก็รู้สึกหวาดหวั่น โกรธ สีหน้าท่าทีที่ส่งออกไปอาจรบกวนจิตใจเด็กๆ โดยไม่รู้ตัว
3.สิ่งแวดล้อม หมายรวมถึงบุคคลอื่นที่จะลดการถามหรือชวนให้เด็กพูดซ้ำ อีกทั้งการปรับสิ่งแวดล้อมให้ “เชื่อได้ว่าปลอดภัย” ปลอดโปร่ง แสงสว่าง ลดเสียงรบกวน และมีสิ่งของที่ช่วยสงบระบบประสาทสัมผัส อาทิ พื้นหญ้า หมอนนุ่ม ของเล่นที่มีสัมผัสหลากหลาย นุ่ม หนืด แข็ง ปุ่ม เพื่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยของร่างกาย จิตใจ และระบบประสาทสัมผัส ไปพร้อมกับกิจกรรมการฝึกหายใจ
4.ชนิดของ traumatic event ที่มีข้อมูลว่า traumatic event ที่ทำให้เด็กมีอาการ PTSD สูงเกิดจาก interpersonal violence เช่น การทารุณกรรม การข่มขืน จากบุคคลใกล้ชิดมากกว่า PTSD ที่มาจาก traumatic event โดยการประสบภัยพิบัติ เพราะเมื่อผู้ใกล้ชิดเป็นผู้กระทำเสียเองทำให้เกิดความสั่นคลอนในความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ไว้วางใจ และทำให้เกิดปัญหาการสร้างความผูกพันกับผู้เลี้ยงดู กระทั่งเกิดความรู้สึกสับสนไม่แน่ใจ พัฒนาไปสู่การกล่าวโทษตนเอง รู้สึกไร้ค่า มีความยากในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
“โดยธรรมชาติของความกลัวทั่วไป เด็กมักสำรวจกับบุคคลและสิ่งแวดล้อม เมื่อพบเจอสิ่งที่ไม่คุ้นเคย คนแปลกหน้า เด็กจะมีความรู้สึกกลัว ระดับความเครียดจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น สารบางอย่างในสมองเริ่มเปลี่ยน ร่างกายก็เปลี่ยนแปลงตาม คิ้วที่ขมวด มาพร้อมกับใจที่มีจังหวะรัวมากขึ้นเป็นสัญญานจากสัญชาตญาตว่ากำลังมาถึงทางแยกของการสู้หรือหนี ทันใดนั้น มีชุดความคิดอย่างอัตโนมัติเริ่มประเมินสถานการณ์ ในขณะเดียวกันถ้ามีคนที่ไว้ใจได้อยู่ใกล้ๆ โดยมีความมั่นคง มีท่าทีที่ผ่อนคลายยิ้มทักทายกับคนแปลกหน้า หรือเคลื่อนตัวช้าๆ ไปในสถานที่แปลกใหม่ ไม่เข้าไปจู่โจมสอนวิธีการหรือผลักเด็กลงไปในห้วงนทีของความไม่แน่ใจ เด็กจะค่อยๆ สงบระบบสัญชาตญาณลง และทบทวนคนแปลกหน้าที่เริ่มคุ้นเคย และสถานการณ์ที่ดูปลอดภัยใหม่อีกครั้งก่อนก้าวข้ามความกลัวนั้นเข้าไปสู่การเติบโตทางอารมณ์ (Beyond fear)”
“ตรงข้ามกับเด็กที่กำลังเผชิญกับความกลัวสิ่งตรงหน้า และต้องกลัวอย่างท่วมท้นจากสีหน้าเคร่งเครียดในการสอนการเข้าสังคมจากพ่อแม่ และบ่นปนตำหนิว่าความกลัวอันยิ่งใหญ่นั้น เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยในสายตาของพ่อแม่ที่เขาไว้ใจ”
ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะจากภัยพิบัติ ความรุนแรง หรือแม้เรื่องกลัว ไม่ปลอดภัย ที่ไม่อาจประเมินได้จากการมองด้วยสายตา หรือเหตุการณ์ ย่อมควรได้รับการช่วยเหลือเพื่อให้เขาได้ผ่านเรื่องราวยากลำบากไปได้ ทั้งยังเป็นโอกาสในการฝึกทักษะในการจัดการอารมณ์และการปรับตัวอีกด้วย
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น