ขอโทษ คำแสดงออกด้วยการจำยอม หรือเป็นการนอบน้อมต่อความผิดพลาดในใจ

ขอโทษ คำแสดงออกด้วยการจำยอม หรือเป็นการนอบน้อมต่อความผิดพลาดในใจ

การขอโทษเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้เพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันไว้ โดยการกล่าวยอมรับในสิ่งที่ตนกระทำลงไปแล้วเกิดผลกระทบกับผู้อื่น ทั้งยังป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับตนเองภายในเพื่อการยอมรับ และก้าวข้ามเรื่องที่ทำผิดพลาดไป หากแต่การขอโทษกลับถูกใช้ในเจตนาอื่น จนอาจส่งผลต่อความเข้าใจ “การขอโทษ” ที่คลาดเคลื่อน

วัฒนธรรมกับการขอโทษที่สร้างข้อขัดแย้งภายในใจ

            การขอโทษนอกจากเป็นเครื่องมือสื่อสารความรู้สึกผิดพลาด และความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ที่คนอื่นได้จากการกระทำของเราไม่ว่ามาจะเจตนาหรือไม่ ยังเป็นเครื่องมือแสดงระดับความอาวุโสของคนในสังคมวัฒนธรรมไทย ที่ผู้ใหญ่บางคนยังมีความคุ้นเคยกับชุดความเชื่อว่า “เด็กควรต้องแสดงการขอโทษผู้ใหญ่เมื่อทำผิดพลาด” แต่กลับรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเมื่อผู้ใหญ่ทำสิ่งผิดพลาดเอง อาจมีความรู้สึกสับสนจากความคิดว่า “พูดขอโทษไป จะไม่ได้รับความเคารพต่อหลังจากนี้ เพราะเชื่อลึกอย่างสุดใจว่าผู้ใหญ่ควรเป็นต้นแบบที่ดี ไม่ควรมีสิ่งผิดพลาด”

            ในขณะที่ผู้ใหญ่เองก็มีความเป็นมนุษย์ สามารถมีเรื่องที่ผิดพลาดได้เช่นกันทั้งจากเหตุที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่ก็อาจส่งผลให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบ หากปรับมุมมองต่อความผิดพลาดได้ก็จะลดความหวาดหวั่นได้ระดับหนึ่ง

            การยืนกรานบนท่าทีแข็งกร้าวในขณะที่ตนทำผิดพลาดอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสัมพันธภาพที่ไม่ดี เพราะเด็กเกิดความสับสนถึงความถูกผิด หรืออาจก่อเป็นความหงุดหงิดเพราะคิดว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม ในทางตรงข้ามหากผู้ใหญ่แสดงความเสียใจผ่านการขอโทษที่อาจไม่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับความถูกหรือผิด แต่ใส่หัวใจลงไปตรงที่ผลกระทบกับผู้อื่น นับเป็นต้นแบบที่ดีในการแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ

ปัจจัยภายในกับการสื่อสารขอโทษ

         ในการทำงานเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก พบว่า ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยมีความเชื่อว่า “การขอโทษคือมารยาท” “เด็กที่ดีควรต้องแสดงการขอโทษเมื่อกระทำสิ่งต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับคนอื่น หรือ คลาดไปจากสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เป็น”  ในขณะที่การสื่อสารในการขอโทษอาจประกอบด้วยหลายทักษะที่มากไปกว่า “การมีมารยาท”

ทักษะในการรู้เท่าทันตนเอง คือทักษะที่เด็กมีความสามารถในการเข้าใจความรู้สึก ความคิด การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเกิดความรู้สึก การตีความของความคิด การให้คุณค่า รวมทั้งสามารถประเมินผลการกระทำได้พอประมาณว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อหลังการกระทำนั้น

ทักษะในการควบคุมตนเอง คือทักษะที่พัฒนาต่อเนื่องจากทักษะในการรู้เท่าทันตนเอง โดยสามารถกำกับอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยการแสดงออกทางวาจา ท่าทาง มุ่งเน้นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารความคิดเห็นและความรู้สึกของตนเอง

แรงจูงใจภายใน คือความต้องการในการกระทำบางอย่างที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และต่อผู้อื่น ผ่านความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจมุมมองความคิดของผู้อื่นได้

ทักษะสังคมและการสื่อสาร คือทักษะในการเข้าใจบริบททางสังคม การดำเนินของเรื่องราว มุมมองความคิดเห็นจากคนอื่น การตีความเชิงนามธรรม และเชิงวัฒนธรรม รวมทั้งการปรับตนเองให้เข้ากับสังคมด้วยทักษะการคิดยืดหยุ่น

ทักษะการสื่อสารเพื่อการจูงใจ คือทักษะในการปรับวิธีการสื่อสารให้เหมาะสมกับอารมณ์ของตนเอง อารมณ์ของผู้อื่น และผลประโยชน์โดยภาพรวม โดยเป็นทักษะที่ต้องอาศัยความสามารถและประสบการณ์

ความรู้สึกผิดที่มากล้น ส่งผลต่อการหลีกเลี่ยงการขอโทษ

         แม้ว่าเราจะมีทักษะต่างๆ ที่พร้อมจะน้อมรับรู้สึกผิด และแสดงออกด้วยการขอโทษ แต่หลายครั้งของความรู้สึกสึกผิดระดับสูงกลับส่งผลต่อการหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญความจริง ผู้ใหญ่ใช้การเบี่ยงประเด็นเมื่อต้องขอโทษเพราะนอกจากความรู้สึกผิดต่อเรื่องที่ทำพลาดแล้วยังรู้สึกไม่ดีจากความคิดกล่าวโทษตนเองว่า “เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ดี” ทำให้ยากที่จะยอมรับและแสดงออกอย่างเหมาะสม

ขณะที่ในเด็กที่กระทำผิดและได้รับการตำหนิหรือลงโทษอย่างรุนแรง มักใช้การหลีหนีความผิดด้วยการแสดงอารมณ์โกรธเพื่อกลบเกลื่อน กล่าวโทษผู้อื่น หรือโกหกเพื่อปิดบังเรื่องราวนั้นเอาไว้

การแสดงความขอบคุณเมื่อเด็กแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพัฒนาทักษะการยอมรับและการแสดงการขอโทษ ให้เด็กสามารถสงบตนเอง ยอมรับข้อผิดพลาด ประเมินผลกระทบจากสิ่งที่ตนเองทำ รู้สึกเห็นอกเห็นใจ และกล่าวคำขอโทษนั้นออกไปจากใจ…

ดังนั้น การฝึกทักษะการยอมรับ ความรู้สึกเชิงลบ จึงมีความสำคัญต่อการฝึกทักษะการขอโทษ เพราะมีความคิดอคติมากมายที่ทำให้ความรู้สึกผิดมีมากจนเกินไป ในขณะที่ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน การรู้เท่าทันเจตนาที่แท้จริง การมีความคิดต่อความผิดพลาดอย่างเป็นกลางตามความเป็นจริง ทัศนคติต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตนเอง คือ ต้นทุนสำคัญในการของโทษ

การขอโทษจึงสามารถแสดงออกเป็นการสื่อสารเมื่อตนเองรู้สึกผิด(พลาด) ทั้งเจตนากระทำแต่ไม่ตั้งใจให้ผลออกมาเป็นเช่นนั้น อาทิ ขว้างบอลเล่นในสนามแม้จะได้รับการเตือนแล้ว และทำให้กระจกของเพื่อนบ้านได้รับความเสียหาย เมื่อสามารถเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่ตนทำลงไปนั้นสร้างผลกระทบกับผู้อื่น

หรือแม้แต่การสื่อสารเพื่อการแสดงความเห็นใจ ในกรณีที่เราไม่ได้มีเจตนาต่อการกระทำนั้น แต่การกระทำของเรากลับส่งผลกระทบแก่คนอื่น อาทิ เราทักทายด้วยความเป็นห่วงกับเพื่อนสนิทว่า “เธอดูเครียด และผอมกว่าครั้งก่อนที่เราเจอกัน” ทำให้เพื่อกังวลและไม่มั่นใจ เราอาจขอโทษที่ความหวังดีของเราส่งผลให้เขาไม่สบายใจ

ดังนั้นแล้ว การขอโทษ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน แต่อย่าลืมที่จะใช้การขอโทษกับตนเองเพื่อประนีประนอมกับความรู้สึกผิดพลาดในอดีตของตนเอง เพื่อสร้างความสงบในใจก่อนก้าวไปสู่การพัฒนาตนเอง

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น