ความปรารถนาดีที่แสนเจ็บปวด

ความปรารถนาดีที่แสนเจ็บปวด

ความเชื่ออย่างเข้มงวดต่อการเป็นพ่อแม่ที่ดี ส่งผลต่อวิธีการสื่อสารและการเลี้ยงดูลูก เพราะมักประกอบไปด้วยชุดความคิดที่คาดหวังให้ลูกเป็น “ลูกที่ดี” ทั้งยังมีรูปแบบความคิดเปรียบเทียบให้ลูก “ดีเท่ากับหรือมากกว่าคนอื่น” ซึ่งความคิดเหล่านี้เคยถูกเชื่อว่ามาจากการที่พ่อแม่อยากมีหน้ามีตา ต้องการได้รับการยอมรับว่าลูกได้ดิบได้ดีเพราะมาจากการเลี้ยงดูที่ดี

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีพ่อแม่ไม่น้อยที่เลี้ยงดูลูกด้วยความรู้สึกกังวลต่อโลกที่ยากและซับซ้อน มากกว่าการเลี้ยงดูให้ลูกได้ดีเพื่อต้องการคำชื่นชมจากคนอื่นๆ

“ความกังวล ความคาดหวัง” ที่เป็นส่วนลึกในบทบาทของความเป็นพ่อแม่ ส่งผลโดยตรงกับความรู้สึก และการเลี้ยงดู สีหน้าหงุดหงิด น้ำเสียงที่กระแทกกระทั้น คำไม่สุภาพ หรือแม้แต่การลงโทษเมื่อลูกไม่สามารถเป็นไปตามที่ตนคาดหวัง (Motive) และใช้การอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า “ความหวังดี”

เพราะเมื่อสถานการณ์สงบลง พ่อแม่กลับมาทบทวนตัวเอง ก็จะเห็นได้ว่า.. สิ่งที่ตนได้กระทำลงไปด้วยความรุนแรง ล้วนมาจากความตั้งใจที่ดี ในขณะที่ลูกกลับได้รับผลกระทบจากภาวะอารมณ์ของผู้เลี้ยงดู และต่อต้านอย่างทันทีเมื่อพ่อแม่ยืนหยัดว่า “พ่อดุเพราะอยากให้ได้ดี แม่ตีเพราะอยากให้หนูพัฒนาตัวเอง”

“การเป็นผู้ถูกกระทำ ความเจ็บปวด และความเชื่อเชิงลบต่อตนเอง”

กลับเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ได้มากกว่าความกังวลที่เจือปนด้วยความหวังดีของพ่อแม่

ความรุนแรง ไม่จำเป็นต้องสัมผัสร่างกาย

            เพราะจิตใจ และความเป็นตัวตน ลึกซึ้งกว่าเนื้อหนังที่ห่อหุ้มกระดูก แต่สิทธิ์และพื้นที่ของความเป็นมนุษย์ที่ถูกละเมิด ทั้งการตี การใช้คำส่อเสียด การเปรียบเทียบ เพราะแม้พ่อแม่จะมีหน้าที่ในการดูแลให้ลูกเป็นในสิ่งที่ควรเป็น ตัวลูกเองในฐานะคนๆ นึงก็มีหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อการพัฒนาและการดีขึ้นของตนเอง หลายครั้งพบว่า เด็กๆ ก็ผิดหวังกับตนเองอยู่แล้วจากการกระทำที่ผิดพลาด การถูกลงโทษทางกายและทางใจเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดให้กับตนเอง

ความรุนแรงทิ้งซากปรักหักพังอะไรเอาไว้บ้าง

            หากพ่อแม่ที่ทำหน้าที่สั่งสอนอย่างเข้มงวด และแสดงออกด้วยความรุนแรง แต่กลับไม่มีพื้นที่ว่างให้กับการปลูกฝังทัศนคติในยามที่อารมณ์สงบ ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้พักยามอารมณ์เศร้าหรือหมดหวัง ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่เหินห่าง พฤติกรรมต่อต้านทั้งจากความตั้งใจและอย่างอัตโนมัติ (พัฒนาเป็นบุคลิกภาพ) และเป็นการตอกย้ำความเชื่อต่อตัวลูกว่า “ฉันไม่ดีพอ ฉันไม่เก่งพอ ฉันไม่เป็นที่รัก” ซึ่งซากปรักหักพังนี้มีผลต่อการพัฒนาด้านจิตใจเมื่อลูกๆ กลายเป็นผู้ใหญ่

พ่อแม่ที่กังวลปนกับความปรารถนาดี จะมีวิธีเลี้ยงลูกอย่างไร

1.รู้ทันอารมณ์ ทักษะการรู้ทันอารมณ์ตนเองเป็นทักษะสำคัญมากของพ่อแม่ เพราะความเชื่ออย่างเข้มงวดต่อการมีบทบาท ย่อมส่งผลให้เกิดระบบการแสดงอารมณ์อย่างอัตโนมัติ พ่อแม่ควรมีเวลาในการฝึกทักษะโดยตั้งคำถามต่อตนเองกับสถานการณ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

ฉันกำลังรู้สึกอย่างไร อาทิ โกรธ กังวล ไม่พอใจ

ฉันรู้สึกมากแค่ไหน อาทิ 4 เต็ม 10

ความรู้สึกนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในร่างกาย อาทิ หายใจเร็ว คิ้วขมวด

ความรู้สึกนี้มักทำให้ฉันทำสิ่งใด อาทิ ตะโกนเสียงดังด้วยคำหยาบคาย

ฉันจะสงบจิตใจได้อย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ อาทิ ปลีกตัวไปอยู่กับสัตว์เลี้ยงประมาณ 10 นาที ก่อนเริ่มต้นพูดคุย

2.สื่อสารกับตนเอง

ความเชื่อเรื่องการเป็นพ่อแม่ที่ดี อาจเป็นเป็นตัวกระตุ้นให้พ่อแม่กังวลปนหงุดหงิดได้ง่าย เพราะหากความเชื่อนี้ไปผูกพันกับลูกขึ้นมาเมื่อไหร่ อาจกลายเป็นความคิดที่ซับซ้อนได้ง่าย อาทิ “ถ้าลูกฉันประพฤติตัวดีหมายความว่าฉันเป็นพ่อแม่ที่ดี” ซึ่งความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่บิดเบือน การดีหรือไม่ดีวัดไม่ได้ และการดีหรือไม่ดีของลูกไม่ได้เกิดจากปัจจัยการเลี้ยงดูจากพ่อแม่เท่านั้น และการเป็นพ่อแม่ที่ดีอาจมีรูปแบบต่างๆ มากมายกว่าเพียงการวัดจากการมีลูกที่ประพฤติตนดี

3.เคารพความแตกต่างของมนุษย์

แม้ว่าพ่อแม่จะเป็นคนสำคัญในการดูแลลูก แต่อีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือ การยอมรับความแตกต่างว่าลูกอาจไม่เหมือนเรา ลูกอาจไม่ได้ต้องการสิ่งเดียวกับเรา ความรู้เท่าทันและทำในสิ่งที่ตนทำได้ ให้โอกาสตัดสินใจ บอกเล่าประสบการณ์โดยระมัดระวังความคาดหวังและการหว่านล้อม และพร้อมเคารพการตัดสินใจ อาจเป็นสิ่งสำคัญในบทบาทพ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ของลูกที่กำลังจะเป็นวัยรุ่น

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการชวนคิดถึง “ความเชื่อต่อบทบาทพ่อแม่ การรู้เท่าทันตนเอง และการเคารพลูกในฐานมนุษย์” แต่ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ต้องปล่อยปละละเลยให้ลูกเติบโตในเส้นทางของตนเองอย่างอิสระ หากแต่การดูแลลูกต้องอาศัยความเข้าใจ เสียสละ และการบริหารจัดการอารมณ์เป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้สูญเสียความสัมพันธ์ การกระตุ้นพฤติกรรมต่อต้าน ปัญหาสุขภาพใจ และการกล่าวโทษตนเองของพ่อแม่

ในการจะเป็นพ่อแม่จึงมีทักษะที่สามารถเรียนรู้และปรับใช้ได้ คือ การปรับพฤติกรรมในวัยเด็ก ภายใต้รูปแบบการเรียนรู้ “ปรับผู้ใหญ่ให้เด็กเปลี่ยน” รวมทั้งการสื่อสารเพื่อความเข้าใจและการสื่อสารเพื่อปรับพฤติกรรมในวัยรุ่น  (บทต่อไปดีมั้ยครับ)

 

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น