การหาจุดแข็งในตัวเอง (Character Strengths)
การค้นหาศักยภาพหรือจุดแข็งเป็นมุมมองที่ถูกพูดถึงในหลากหลายศาสตร์ อาทิ พัฒนาการ การศึกษา การทำงาน หรือแม้กระทั้งการบำบัดด้านจิตใจ
ในด้านพัฒนาการนั้น การพูดถึงจุดแข็งมักมาพร้อมกับการประเมินองค์รวมของเด็กคนนั้นๆ ว่าเขามีสิ่งใดเป็นไปตามวัย มีสิ่งใดเป็นไปได้น้อยกว่าวัย เพื่อได้รับการช่วยเหลือและแก้ไข ทั้งยังตามหาสิ่งที่เป็นจุดแข็งหรือทำได้มากกว่าวัยเพื่อส่งเสริมให้เขาทำได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อประคองให้ตนเองสามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้ โดย “ไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อการใช้จุดแข็งเพื่อการเปรียบเทียบกับคนอื่น”
ในด้านการศึกษาและการทำงาน การหาจุดแข็งมีจุดประสงค์ที่ละเอียดอ่อนละซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งเพื่อการพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามที่ตนเองคาดหวัง มากกว่านั้นยังเป็นการค้นหาเพื่อนำเสนอจุดแข็งของตนนั้นให้แก่องค์กรเพื่อจัดสรรการเรียนและการทำงานที่เหมาะสมกับจุดแข็งของเรา สิ่งที่ได้กลับมาอาจเป็นมากกว่าผลตอบแทนที่เป็นเม็ดเงินแต่เป็นการยอมรับจากผู้คนและความรู้สึกดีต่อตนเอง
ในการบำบัดด้านจิตใจ หลายคนคงมีความเข้าใจว่าผู้บำบัดคงมุ่งเน้นใช้กระบวนการช่วยเหลือเพื่อเยียวยาสิ่งที่เป็นข้อผิดพลาดหรือจุดอ่อน แต่แท้จริงแล้วการทำงานผสมผสานกันระหว่างการกระตุ้นให้สามารถเห็นข้อผิดพลาดบางอย่าง และจุดแข็งในเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีการพัฒนาของอาการไปในทางที่ดี
ดังนั้นแล้ว การพูดถึงจุดแข็งจึงปะปนกับเราในการใช้ชีวิต ตั้งแต่เล็ก เด็ก เรียน ทำงาน หรือแม้กระทั่งในวันที่เราเจ็บปวดและอ่อนล้า
จะหาจุดแข็ง ต้องรู้จักเปิดใจให้จุดอ่อนของตัวเอง
เมื่อมนุษย์ไม่สามารถสมบูรณ์พร้อมได้ในทุกมิติ แต่การจะรับรู้ว่าตนเองมีจุดแข็งอะไรในฉับพลันทันทีอาจไม่ใช่เรื่องง่าย หากค่อยๆ ตามหาสิ่งเหล่านั้นจากการให้กรอบคิดของ “จุดแข็งออกเป็นหมวดหมู่” เช่น ทักษะด้านกีฬา จากนั้นเปิดโอกาสให้ตนได้ลองผิดลองถูก ให้เวลาฝึกฝนอย่างมากพอ ในบางคนก็อาจรับรู้ได้ถึงจุดแข็งด้านกีฬาของตนได้ทันที แต่ถ้าหากยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม พบจุดอ่อนในกีฬาชนิดแรก ให้เวลาและออกแรงกับตนเองอีกซักครั้งในกีฬาชนิดถนัดไป อาจไปพบจุดแข็งจากการเปิดโอกาสให้ตัวเองอีกครั้งก็เป็นได้ ทำอย่างนี้ซ้ำมาซ้ำไปในหมวดหมู่อื่นๆ ที่ตนสนใจ สนุก อย่างค่อยๆ เปิดใจ
การยอมรับความรู้สึกที่มาจากการได้รู้จุดอ่อนของตนนั้น มีส่วนในการสร้างจุดแข็ง
แต่การเผชิญกับการรับรู้จุดอ่อนของตนเอง เพื่อไปสู่การเข้าใจจุดแข็งนั้นพูดง่าย ทำยาก เพราะความผิดพลาด ผิดหวัง มักนำมาซึ่งความรู้สึกเสียใจ เศร้า ยิ่งทำให้แรงกำลังในการจะออกไปค้นหาตัวเองยิ่งทำได้ยาก การยอมรับความรู้สึกด้านลบว่าสมารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคนที่ผิดหวัง การให้เวลา และการหากิจกรรมอื่นเพื่อผ่อนคลายก่อนเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
อ่อนแอ ร้องไห้บ้าง อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของการค้นพบจุดแข็ง
เพราะความเสียใจจากความผิดหวังคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หากสามารถมีการจัดการอารมณ์และก้าวข้ามกระทั่งสามารถนำไปสู่ทักษะจัดการอารมณ์เฉพาะตัวได้ นับเป็นจุดแข็งทางอารมณ์ที่เป็นสิ่งสำคัญเพื่อใจที่สงบและสะสมขุมกำลังใจในการค้นหาจุดแข็งอื่นๆ ของตัวเองต่อไป
จุดแข็งมีหลายมิติ การเฝ้ามองและการจับจ้องจุดแข็ง ให้อรรถรสที่ต่างกัน
จุดแข็งมีทั้งในแบบรูปธรรม นามธรรม วัดได้ วัดยาก หากจะให้กำหนดกะเกณฑ์คงเป็นไปได้ยาก แต่หากจะให้ยกเป็นตัวอย่างคร่าวๆ คงพอจะทำให้เห็นภาพได้ ด้านร่างกาย ก็แบ่งย่อยได้ไปถึง น้ำหนัก ส่วนสูง ระบบต่างๆ การมองเห็น การได้ยิน การทรงตัว ฯลฯ ด้านอารมณ์ ก็แบ่งย่อยไปได้ถึง การรู้เท่าทันอารมณ์ การจัดการอารมณ์ การแสดงออกอารมณ์ การสื่อสารอารมณ์เหมาะสมกับสถานการณ์ ฯลฯ ยังมีด้านสังคม การเรียนรู้ การคิด กิจวัตรประจำวัน ฯลฯ
อีกทั้งยังมีด้านที่เป็นนามธรรม และการปรับตัวที่วัดได้ยากอีกมากมายที่สังคมกำลังสร้างตัวชี้วัดเรื่องจุดแข็งในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาทิ ภาวะผู้นำ ทักษะ AI ฯลฯ
ที่พยายามตอกย้ำให้เห็นถึง “ฯลฯ” เพราะว่า มันมีทักษะร้อยแปดพันเก้าบนโลกนี้ที่มนุษย์ต้อง ควรมี และแสวงหาที่จะมีเพื่อที่จะเรียนรู้ อยู่รอดและรู้สึกดี แต่การที่เราพยายามมากเกินไปในการจะพัฒนาตนเองให้มีจุดแข็งกับทักษะที่มากมายเหลือเกิน คงส่งผลไม่น้อยกับใจ อีกทั้งเมื่อเราคอยจับจ้องกับตนเองอย่างสม่ำเสมอว่าเราเก่งพอหรือยัง ทักษะเหล่านี้เป็นจุดแข็งของเราได้หรือยัง หรืออาจพลั้งเผลอเปรียบเทียบสิ่งที่ตนทำได้ดีอยู่แล้วกับคนอื่นอาจรบกวนใจให้หวาดหวั่น ไม่มั่นคง
ดังนั้นการมีกรอบให้ชัดมากขึ้นระหว่าง จุดแข็งแบบมาตรฐาน จุดแข็งที่สังคมให้การยอมรับ กับจุดแข็งในแบบฉบับตนเอง อาจไม่ใช่จุดร่วมเดียวกัน จะช่วยให้เราสามารถเบาอกเบาใจในกระบวนการตามหาจุดแข็ง
แต่หากต้องการมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทักษะไปพร้อมกับการดูแลจิตใจ จงอย่าลืมที่จะชื่นชมตนเองเมื่อค้นหาเจอ “จุดแข็งใจแบบฉบับของตนเอง” และย้ำกับตัวเองในทุกวันว่า “ความพึงพอใจในจุดแข็งกับสิ่งจำเป็นในชีวิตอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน”
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น