Consent คืออะไร?

Consent คืออะไร?

Consent หรือ ความยินยอม ถูกจำกัดนิยามโดย Sexual Assault Prevention and Awareness Center แห่ง University of Michigan ว่าคือ “การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งตกลง ให้อนุญาต หรือตอบรับที่จะมีกิจกรรมทางเพศกับอีกบุคคลหนึ่ง” หากไม่ได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย กิจกรรมทางเพศที่เกิดขึ้น จะถือว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ 

Consent จะต้องถูกแสดงออกอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะผ่านทาง “คำพูด”  หรือ  “การกระทำ”  เราไม่สามารถคาดเดาจากบริบทที่ไร้คำพูดเเล้วคิดไปเองว่าอีกฝ่ายยินยอมได้

ในกรณีต่อไปนี้ แม้ว่าอีกฝ่ายจะยินยอมด้วยคำพูดและการกระทำ จะไม่ถือว่าเป็น consent ที่ถูกต้อง

  • เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดสติสัมปัชชัญญะด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอลล์ 
  • เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีสติรู้ตัวหรือกำลังนอนหลับ 
  • เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ในบทบาทที่ต้องเชื่อฟังอีกฝ่าย เช่น นักเรียนกับอาจารย์ นายจ้างกับลูกจ้างเป็นต้น
  • มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กำลังบีบบังคับอีกฝ่ายให้ร่วมกิจกรรมทางเพศกับตน 
  • มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนใจและกล่าวปฏิเสธ 

แล้วทำไม Consent ถึงสำคัญ?
ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่ยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์จะถือว่าเป็นความรุนแรงทางเพศรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นได้ทั้ง
การล่วงละเมิดทางเพศ: การปฏิบัติทางเพศอย่างไม่ได้รับความสมัครใจใดๆ ก็ตามที่บุคคลหนึ่งกระทำต่อบุคคลหนึ่ง รวมไปถึงการสัมผัสต่างๆ เช่น การจูบ การลูบไล้ การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก หรือ การมีเพศสัมพันธ์โดยการสอดใส่
การคุกคามทางเพศ: การปฏิบัติทางเพศที่ไม่ได้รับความสมัครใจด้วยคำพูดหรือการกระทำที่ส่อถึงกิจกรรมทางเพศทั้งทางตรงและทางอ้อม  ผ่านการใช้สายตา ท่าทาง เสียง คำพูด ร่างกาย หรือสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรู้สึกไม่พอใจ ไม่ปลอดภัย อึดอัด และเดือดร้อน
เราทุกคนควรมีความรับผิดชอบว่าทุกครั้งก่อนที่จะมีกิจกรรมทางเพศเกิดขึ้น เราต้องแน่ใจก่อนว่าอีกฝ่ายยินยอมโดยสมัครใจแล้ว หากเราไม่แน่ใจว่าคู่ของเราจะยินยอม จำเป็นที่จะต้องถามอีกฝ่ายก่อนว่ารู้สึกอย่างไรก่อนที่เหตุการณ์จะเลยเถิด การมีเพศสัมพันธ์ต้องเกิดจากการยินยอมสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ความยินยอมของอีกฝ่ายไม่สามารถมาจากการคาดเดาด้วยสถานการณ์ต่อไปนี้

  • ภาษากาย ภาพลักษณ์ หรือพฤติกรรมใด ๆ ที่ไม่ได้ผ่านการสื่อสารด้วยคำพูด : ไม่ควรตัดสินคนอื่นจากการแต่งกาย การที่อีกฝ่ายยิ้มให้ จ้องมอง ไม่ได้แปลว่าเขาอยากมีเพศสัมพันธ์ด้วย
  • สถานะความสัมพันธ์หรือประสบการณ์ทางเพศร่วมกันในอดีต : การที่เคยยินยอมมีเพศสัมพันธ์กันมาก่อนไม่ได้แปลว่าจะอยากมีเพศสัมพันธ์ในครั้งถัดไป
  • การแต่งงาน : แม้จะเป็นสามี-ภรรยากัน ก็ไม่ควรจะเหมารวมไปว่าคู่ของตนยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วยทุกครั้งที่อีกฝ่ายต้องการ การข่มขืนคู่สมรสเป็นความรุนแรงทางเพศแบบหนึ่งซึ่งมีโทษร้ายแรงเทียบเท่าการล่วงละเมิดทางเพศรูปแบบอื่นๆ
  • การเคยยินยอมในกิจกรรมทางเพศรูปแบบหนึ่งไม่ได้แปลว่ายินยอมกับทุกกิจกรรมทางเพศที่อีกฝ่ายต้องการ :การยินยอมให้ทำกิจกรรมทางเพศรูปแบบหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะยอมทำกิจกรรมทางเพศรูปแบบอื่นด้วยโดยไม่ต้องถามความยินยอมก่อน เช่น ยอมให้จูบได้แต่ไม่ได้แปลว่าจะยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย เป็นต้น
  • การเงียบ การไม่โต้ตอบ การไม่ขัดขืน หรือ ไม่ขยับตัวหนี : การเงียบไม่ควรถูกเหมารวมว่ายินยอม หากไม่ได้ตกลงอย่างชัดเจนที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย แม้จะไม่ได้ปฎิเสธหรือขัดขืนก็ถือว่าไม่ได้ยินยอม
  • การขาดสติสัมปัชชัญญะ : ไม่ว่าจะเป็นเพราะแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติด การให้ความยินยอมทั้งๆ ที่ไม่มีสตินั้นไม่ใช่การยินยอมที่เเท้จริง นอกจากนี้แอลกอฮอล์มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรม มอมเมาเหยื่อให้ยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย และมักถูกใช้เป็นข้ออ้างของคนกระทำผิด ว่าทำไปเพราะขาดสติ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคู่ของคุณยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์หรือไม่?

  คนทั้งสองคน ที่กำลังจะร่วมกิจกรรมทางเพศ ต้องตกลงกันทั้งสองฝ่ายถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ความยินยอมคือทางเลือกที่เลือกด้วยกันทั้งสองฝ่ายโดยแสดงออกดังนี้

การให้ความยินยอม เกิดขึ้นได้โดย

  • ทั้งคู่มีสติรับรู้ความต้องการของตัวเอง และตกลงกันด้วย “คำพูด”
  • ทั้งคู่พูดคำว่า “ได้” ออกมา (พยักหน้าอย่างเดียวไม่พอ) 

แต่จำไว้ว่าการตอบรับต่อกิจกรรมหนึ่งไม่ได้แปลว่าตอบรับต่อกิจกรรมประเภทอื่นด้วย และก่อนที่จะเปลี่ยนจากการกระทำหนึ่งไปสู่การกระทำต่อ เช่น จากการจูบไปเป็นการมีเพศสัมพันธ์ ก็ต้องขอความยินยอมจากอีกฝ่ายก่อนทุกครั้ง และการโน้มน้าวอีกฝ่ายให้ตอบรับก็ไม่ใช่การยินยอมโดยสมัครใจเช่นกัน

ข้อควรระวัง: 

  1. การให้ความยินยอมต่อกิจกรรมหนึ่งไม่ได้แปลว่ายินยอมต่อกิจกรรมรูปแบบที่จะตามมาทั้งหมด ดังนั้น ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนกิจกรรม ต้องขอความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนทุกครั้ง เช่น จากการจูบไปมีเพศสัมพันธ์ ต้องขอความยินยอมของอีกฝ่ายใหม่
  2. การโน้มน้าวใจให้อีกฝ่ายตอบรับ ไม่ใช่การยินยอม

แล้วจะขอ Consent อย่างไรไม่ให้ขัดบรรยากาศดีนะ?

ให้ถามเหมือนกับการขออนุญาตในเรื่องทั่วไป เพราะการขอความยินยอมเป็นเรื่องปกติ ใช้คำพูดที่สุภาพ ห้ามคาดคั้นอีกฝ่าย
ตัวอย่างคำถาม:  ฉันทำ…ได้ไหม ? คุณอยากให้ฉันทำ…ไหม?


รอให้อีกฝ่ายให้คำตอบอย่างใจเย็น ถ้าอีกฝ่ายปฎิเสธ ก็ไม่ควรเร่งเร้าหรือถามต่อไป ควรจะหยุดเเค่นั้น
แต่ถ้าอีกฝ่ายให้คำตอบกำกวม หรือเงียบไป ควรจะถามซ้ำอีกครั้ง

ตัวอย่างคำถาม: ฉันอยากแน่ใจว่าคุณต้องการจะทำแบบนี้? หรือ ฉันต้องขอถามความรู้สึกของคุณก่อนว่าคุณโอเคมั้ยที่จะ…? หรือ ฉันโอเคนะถ้าคุณไม่ต้องการให้ฉันทำ…คุณสามารถบอกฉันได้ เป็นต้น

เรื่องโดย :สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)
Content Creator นางสาวณัฐวดี สิงหะ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

แหล่งอ้างอิง :
Kids help phone https://kidshelpphone.ca/get-info/consent-what-it-and-why-its-important

U Matter, Princeton University https://umatter.princeton.edu/respect/consent/asking-consent

Sexual Assault Prevention and Awareness Center, University of Michigan https://sapac.umich.edu/article/49 (อาจจะ access เพจนี้ไม่ได้แล้ว)