เช็กอย่างไร อาการแบบไหนเข้าข่ายโรคซึมเศร้า

เช็กอย่างไร อาการแบบไหนเข้าข่ายโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร ประเภทและสาเหตุโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้ารักษาหายไหม อยากรักษาโรคซึมเศร้ามีวิธีอะไรบ้าง

เช็กอย่างไร อาการแบบไหนเข้าข่ายโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า คืออาการป่วยทางจิตใจ ความคิด และร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยจะมีภาวะอารมณ์ เช่น รู้สึกเศร้าหมอง ไม่มีความสุข รู้สึกเฉยชาไม่สนใจสิ่งต่างๆ ฯลฯ แต่ทว่าอาการดังกล่าว ก็เป็นภาวะอารมณ์ที่สามารถเกิดขึ้นกับคนทั่วไปได้เช่นกัน ดังนั้น เราจะมีข้อสังเกตอย่างไรว่าอาการแบบไหนถึงเข้าข่ายโรคซึมเศร้า บทความนี้เราจะค้นหาคำตอบเพื่อทำความเข้าใจตนเองและคนรอบข้างที่มีภาวะซึมเศร้าว่ามีอาการแบบไหน อะไรคือปัจจัยและสาเหตุโรคซึมเศร้า รวมถึงวิธีป้องกันและรักษาซึมเศร้า สามารถทำได้อย่างไร 

โรคซึมเศร้า คืออะไร

โรคซึมเศร้าหมายถึง อาการป่วยทางจิตใจ ความคิด และร่างกาย โดยผู้ป่วยจะมีภาวะอารมณ์ เช่น รู้สึกเศร้าหมอง ไม่มีความสุข รู้สึกเฉยชาไม่สนใจสิ่งต่างๆ ฯลฯ ติดต่อกันต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งไม่ใช่แค่ความรู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจที่สามารถจัดการหรือกำจัดมันออกไปได้ง่ายๆ เท่านั้น ถ้าหากภาวะซึมเศร้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็อาจส่งผลกระทบถึงการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ 

โรคซึมเศร้ามีกี่ระดับ? โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งได้ 3 ระดับ คือ 

  1. โรคซึมเศร้าระยะแรก หรือภาวะซึมเศร้าระดับต่ำ 
  2. โรคซึมเศร้าระยะที่ 2 หรือภาวะซึมเศร้าระดับปานกลาง 
  3. โรคซึมเศร้าระยะสุดท้าย หรือภาวะซึมเศร้าระดับรุนแรง ซึ่งอาจมีอาการหลงผิด ประสาทหลอน มีความคิดทำลายตนเอง หรือฆ่าตัวตาย

สาเหตุของโรคซึมเศร้า ไม่ได้เกิดจากความผิดหวัง หรือได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างที่หลายคนเข้าใจเพียงเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว อาจเกิดได้จากหลายเหตุปัจจัย เช่น พันธุกรรม ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เหตุการณ์ที่ทำให้เครียด ฯลฯ ซึ่งโรคซึมเศร้าจะส่งผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพร่างกาย จึงจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาและบำบัดอย่างถูกวิธีโดยจิตแพทย์

ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ โดยสามารถรักษาได้ทั้งวิธีการพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด รักษาด้วยไฟฟ้า รวมถึงการใช้ยาในกลุ่มแก้ซึมเศร้า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตได้ตามเป็นปกติ แต่หากไม่ยอมเข้ารับการรักษา ก็จะยิ่งทำให้ระดับของโรคมีความรุนแรง และรักษาได้ยากขึ้น

โรคซึมเศร้ามีกี่ประเภท

โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งได้หลากหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder : MDD)

Major Depressive Disorder คือโรคซึมเศร้าที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ซึมเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป โดยมักมีอาการเศร้าซึม รู้สึกไม่มีความสุข ไม่สนใจในสิ่งต่างๆ ที่เคยชอบ นอนหลับมากเกินไปหรือบางรายอาจนอนหลับยากขึ้น พฤติกรรมการกินเปลี่ยนจนน้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ รู้สึกหงุดหงิดกระวนกระวาย เฉื่อยชาไม่มีเรี่ยวแรง รู้สึกผิดมากเกินควร รวมถึงรู้สึกว่าชีวิตไร้ค่า และอาจมีอาการหลง หูแว่ว หรือประสาทหลอนร่วมด้วย จึงไม่ควรปล่อยปละละเลยและรีบเข้ารับการรักษาเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder : SAD)

Seasonal Affective Disorder หรือ SAD คือภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดในช่วงเข้าฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่เวลาช่วงกลางวันสั้นลงแต่เวลากลางคืนยาวขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อวงจรที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น การนอนหลับ การตื่นนอน รวมถึงการหลั่งฮอร์โมนบางชนิด จึงทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า เซื่องซึม ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ดิ่งลง จนหมดความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมต่างๆ แต่ส่วนใหญ่อาการมักจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia Depression)

โรคซึมเศร้า Major Depressive Disorder อาจเปลี่ยนไปเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia Depression) ซึ่งแม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่า แต่จะมีอาการเรื้อรังต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี ลักษณะอาการ ได้แก่ กินมากเกินไปหรือรู้สึกเบื่ออาหาร นอนไม่หลับหรือนอนมากไป เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย โกรธง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิ ขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกผิดหรือกังวล มีความคิดเกี่ยวกับความตาย ฯลฯ ซึ่งอาการต่างๆ มักเกิดขึ้นเป็นระยะๆ จึงอาจเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากเกิดอาการเหล่านี้บ่อยๆ หรือสังเกตเห็นสัญญาณอันตราย ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม

โรคซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder : PMDD)

อาการโรคซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน จะเกิดขึ้นในช่วง 3-4 วันก่อนประจำเดือนจะมา และจะดีขึ้นใน 2-3 วันหลังจากมีระดู โดยมีสาเหตุหลักเกิดจากฮอร์โมนเพศเปลี่ยนแปลงไป ลักษณะอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ รู้สึกเศร้า อารมณ์แปรปรวน อ่อนไหวง่าย รู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง อ่อนเพลียไม่อยากทำอะไร สมาธิลดลง เครียดวิตกกังวล ความอยากอาหารไม่เหมือนเดิม เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป การนอนผิดปกติ อาจนอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป  และอาจมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย  เช่น  เจ็บเต้านม ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ บวมน้ำ ฯลฯ

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postnatal Depression)

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postnatal Depression) เกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังคลอด หรือปัจจัยต่างๆ เช่น การเผชิญกับความเครียด หรือเคยมีประวัติความผิดปกติทางอารมณ์และมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน ลักษณะอาการ ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน มีอารมณ์เศร้า เสียใจง่าย ร้องไห้บ่อย อ่อนไหวง่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ความผูกพันกับลูกหายไป และมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง อยากฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายลูก โดยอาการเหล่านี้จะมีระยะตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงหลายเดือน ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

อาการโรคซึมเศร้า

หากมีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า ต่อเนื่องกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป อาจเข้าข่ายเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาจิตแพทย์ให้ทำการวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

  • รู้สึกเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ไม่อยากพูด ไม่อยากทำอะไร
  • ไม่อยากทำในสิ่งที่เคยชอบ ไม่รู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินกับสิ่งที่เคยชอบมากๆ อีกต่อไป
  • กระวนกระวายใจ หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย
  • มองเรื่องต่างๆ ในแง่ลบ รู้สึกไร้ค่ารู้สึกผิดมากเกินควร โทษตัวเองในทุกๆ เรื่อง
  • เฉื่อยชา ทำอะไรก็ช้า
  • ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ มีปัญหาเรื่องการคิด การจดจำรายละเอียด และการตัดสินใจ
  • มีปัญหาเรื่องการนอน เช่น นอนมากเกินไป หลับยากขึ้น หรือนอนไม่หลับ
  • พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากขึ้นหรือกินน้อยไป จนทำให้น้ำหนักขึ้นลงผิดปกติ
  • มีความคิดเรื่องความตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย

โรคซึมเศร้า มีสาเหตุจากอะไร

สาเหตุของโรคซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง : โรคซึมเศร้าเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและการแสดงออกทางอารมณ์ คือ เซโรโทนิน (Serotonin) นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) และโดปามีน (Dopamine)
  • สาเหตุทางพันธุกรรม : หากคนในครอบครัว พ่อแม่หรือญาติพี่น้อง มีประวัติโรคซึมเศร้า จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนทั่วไป 2.8 เท่า อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดทางพันธุกรรมมีความเสี่ยงประมาณ 31-42% ดังนั้น การมีคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นซึมเศร้าด้วยเสมอไป แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย
  • ประสบเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความตึงเครียด: โรคซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นจากการเผชิญกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียดหรืออยู่ในสภาวะย่ำแย่กดดันในชีวิต เช่น ปัญหาการเงิน ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้ง ทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดแย้งกับคนอื่น การเผชิญกับความรุนแรง หรือการถูกคุกคามทางเพศ
  • บุคลิกภาพและลักษณะนิสัย : ลักษณะนิสัยเฉพาะตัวบางอย่าง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงและมีแนวโน้มจะเกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่าย เช่น การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ เกิดความวิตกกังวลง่าย มองเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า เก็บกดอารมณ์ไม่แสดงออก ฯลฯ

วิธีรักษาโรคซึมเศร้า

วิธีรักษาซึมเศร้าควรได้รับการประเมินโดยแพทย์เท่านั้น โดยจะมีทั้งการรักษาด้วยการใช้ยา จิตบำบัดโรคซึมเศร้า รักษาด้วยไฟฟ้า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

รักษาด้วยยา

หลังจากแพทย์ประเมินอาการแล้วจะเริ่มรักษาด้วยการใช้ยา (Pharmacological Treatment) เพื่อช่วยปรับสารสื่อประสาทในสมองให้กลับมาทำงานปกติ โดยจะให้ยาขนาดต่ำก่อน แล้ว 1-2 สัปดาห์ต่อมา จะมีการนัดติดตามการรักษา ซึ่งถ้าหากพบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง ก็จะค่อยๆ ปรับยาขึ้นทุกๆ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ตามขนาดในการรักษา แต่ถ้าหากผู้ป่วยหยุดยาเองก่อนกำหนด ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมักจะมีอาการกำเริบได้  ดังนั้น จึงไม่ควรหยุดยาเองจนกว่าแพทย์จะสั่ง ส่วนระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคของแต่ละคน

รักษาด้วยจิตบำบัด

ปัจจุบันพบว่าการรักษาซึมเศร้าด้วยยาควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัดโรคซึมเศร้า (psychotherapy) เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษา หากประเมินระดับโรคซึมเศร้าแล้วยังไม่รุนแรงถึงขั้นใช้ยา จิตแพทย์จะส่งต่อให้พบกับนักจิตวิทยา หรือหากต้องรักษาด้วยยา ก็จะใช้การรักษาด้วยจิตบำบัดควบคู่กันไปด้วย

การทำจิตบำบัดมีหลากหลายวิธี ได้แก่ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy : CBT) จิตบำบัดแบบประคับประคอง (Supportive Psychotherapy) จิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal psychotherapy : IPT) ฯลฯ ซึ่งการเลือกวิธีบำบัดจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย 

รักษาด้วยไฟฟ้า

การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy : ECT) เป็นวิธีการใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นผ่านสมองทำให้ผู้ป่วยเกิดการชัก โดยจะเป็นการรักษาวิธีสุดท้ายสำหรับโรคซึมเศร้า ใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหากับการรักษาด้วยยา หรือรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอย่างมาก หรือมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง


วิธีป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า สามารถทำได้โดย

  • ไม่ควรตั้งเป้าหมายที่ยากเกินจะทำได้ หรือคาดหวังกับตนเองมากเกินไปจนกดดันตัวเอง
  • หากมีอารมณ์เศร้า หรือมีเรื่องที่ทำให้เครียด ลองพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ อย่าเก็บกดความรู้สึกไว้
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบทำ
  • ออกไปพบปะพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัวบ่อยๆ
  • รับประทานอาหาร และนอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลาทุกวัน
  • ออกกำลังกายประมาณ 30-45 นาที อย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงยาเสพติด และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้อาการซึมเศร้าเป็นมากขึ้น

คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

ยารักษาโรคซึมเศร้า มีผลข้างเคียงไหม?

ความกลัวว่ายารักษาโรคซึมเศร้าจะทำให้ติดยา หรือเมื่อกินยาแล้วจะทำให้เกิดอาการมึนงง จนไม่กล้ากินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อแบบผิดๆ เพราะในปัจจุบัน ยารักษาซึมเศร้านับเป็นยาที่มีความปลอดภัย และไม่ค่อยมีผลข้างเคียง หรือถ้าหากเกิดผลข้างเคียง ก็อาจเกิดเฉพาะผู้ป่วยบางราย ซึ่งเพียงก่อให้เกิดความรำคาญ แต่ไม่เป็นอันตราย ถ้าหากคุณรู้สึกว่ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น เวียนหัว นอนไม่หลับ คลื่นไส้ ท้องผูก หรืออาการผิดปกติใดๆ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ

รักษาโรคซึมเศร้าด้วยตัวเองได้ไหม?

เราไม่สามารถรักษาซึมเศร้าด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น หากมีความรู้สึกว่ากำลังมีความเครียดสูง ชีวิตขาดความสมดุล หรือรู้สึกไม่ปกติ ควรพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา การพบจิตแพทย์จะทำให้เราได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อีกทั้งช่วยให้เราเข้าใจสภาพจิตใจของตนเองในขณะที่เป็นอยู่มากยิ่งขึ้น โดยแพทย์จะแนะนำวิธีป้องกันและปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้น ด้วยการปรับวิธีคิด หรือรักษาด้วยการใช้ยา

สรุปเรื่องโรคซึมเศร้า

ถ้าหากคุณกำลังมีภาวะอารมณ์หรือความรู้สึกไม่ปกติติดต่อกันต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถทำแบบประเมินระดับภาวะซึมเศร้าในขั้นต้น ซึ่งหากผลการประเมินออกมาแล้วพบว่ามีความเสี่ยงหรือมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป หรือถ้าใคร อยากปรึกษาหมอออนไลน์ สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยผ่าน แอป Bedee ที่ให้คุณสามารถปรึกษาหมอ ปรึกษาเภสัชกรง่าย ๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอน 

 

” เราเป็นซึมเศร้าหรือเปล่า เช็คให้รู้ คลิก !! “