เงินนะมีไหม?
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีเพลงในอดีตที่กำลังเป็นกระแสทางสังคมเป็นอย่างมาก “ปริญญาไม่มี …” ซึ่งเพลงดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไปหลายทัศนะ ทั้งในมุมมองของวัฒนธรรมการนำเสนอบทเพลง การพูดถึงสังคมในช่วงการกำเนิดเพลง หรือแม้กระทั้งมุมมองที่มีต่อฐานะทางการเงินที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่และความรู้สึก บทเพลงอาจไม่ได้บ่งบอกความรู้สึกตรงไปตรงมาของผู้ที่ขาดโอกาสหรือมีรายได้ไม่เพียงพอ แต่เนื้อหาค่อนข้างมีความชัดเจนว่ามี “ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจซ่อนอยู่ในบทเพลง”
ในยุคก่อน “การเงิน และฐานะ ส่งผลทั้งต่อชีวิตความเป็นอยู่และความรู้สึก”อย่างไรยุคนี้ก็คล้ายกัน เพราะแม้มุมมองที่มีต่องานและการใช้ชีวิตจะต่างไป แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการเงินที่มั่นคงไม่ต่างกัน
หลายครั้งเราจะได้ยินคนทำงานในปัจจุบันพูดกันว่า “อาชีพที่มั่นคง ไม่สำคัญเท่าการได้รับเงินที่สม่ำเสมอและมากพอกับการใช้ชีวิต” การคิดถึงสวัสดิการและความเป็นอยู่มีความสำคัญลดลงกว่าการได้จำนวนเงินที่มากพอ”
เพราะอะไร “เงิน” จึงเป็นส่วนสำคัญของความรู้สึก
เงิน คือ อัตราการแลกเปลี่ยนความพึงพอใจได้ตั้งแต่ระดับกายภาพ ความปลอดภัย ความพึงพอใจ และทางสังคม เช่น ในระดับกายภาพ เราสามารถใช้เงินเพื่อซื้ออาหารการกินที่รสชาติถูกปาก เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย
ในระดับความปลอดภัย เราสามารถใช้เงินเลือกหมู่บ้านที่ระบบรักษาความปลอดภัย หรือแม้กระทั่งการซื้อประกันสุขภาพให้กับตนเอง
ในระดับความพึงพอใจ เราสามารถใช้เงินซื้อหาในสิ่งที่เรารู้สึกชอบโดยไม่ต้องใช้ความคิดเชิงเหตุผลใดๆ มาไตร่ตรอง ชอบก็ซื้อ เลิกชอบก็เปลี่ยนไม่ก็ซื้อสิ่งใหม่มาทดแทน
ในระดับสังคม เราสามารถใช้กำลังเงินเพื่อได้มาซึ่งการยอมรับทางสังคม ความมีเกียรติ ผ่านกิจกรรมบางอย่าง อาทิ การบริจาคที่เปิดเผยตนเองต่อสาธารณะ การใช้สิ่งของมูลค่าสูงเพื่อโอบอุ้มความรู้สึกทางสังคมและตัวตน
หากเรามีเงินมากอย่างล้นมือ ความสุขก็คงล้นหัวใจ แต่ในความเป็นจริง เงินที่มีอาจไม่มากพอกับสิ่งที่ต้องการ หรือในความเป็นจริง เงินอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงได้
เราจะบริหารเงินไปพร้อมกับการบริหารใจได้อย่างได้
1.ทบทวนความต้องการที่ซ่อนอยู่ภายใต้การใช้เงินนั้น
เพราะความต้องการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับไว ทำให้เราใช้เงินโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะช่วงที่ได้รับเงินเพราะอำนาจในการควบคุมตกอยู่ในมือเรา ช่วงที่เครียดหรือเหนื่อยเพราะการจัดการอารมณ์ด้วยการจ่ายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย หากเราสามารถเข้าใจความต้องการที่แท้จริงได้ “การใช้เงิน” อาจไม่ใช่ทางออกเดียวของการตอบสนองความต้องการ
2.ตั้งคำถามกับตนเองว่า ในวันที่ไม่มีเงินเราจะหาความสุขจากความต้องการนั้นจากสิ่งใดได้บ้าง
หลังจากเข้าใจความต้องการของตนเองแล้วนั้น การฝึกตั้งคำถามดังกล่าวจะช่วยให้เราใช้ความสามารถในการยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ในการตอบสนองความต้องการของตนเองที่หลากหลาย ซึ่งอาจไม่ง่ายและท้าทายกับความคุ้นเคยมากพอสมควร
3.การใช้เงินซื้อความพอใจไม่ใช่สิ่งผิด การบริหารการเงินได้ ความสุขก็ไปได้ไกล
หลายคนอาจเข้าใจว่า ผู้เขียนมีความต้องการให้ไม่พึ่งพิงการใช้เงินเพื่อความสุข แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น แต่เพราะเราไม่สามารถใช้เงินเพื่อตอบสนองความต้องการไปได้ตลอด การมองเห็นความสุขตรงหน้า ไปพร้อมๆ กับความสุขในระยะยาวจากการบริหารเงินได้ จะไม่ส่งผลให้เราเป็นทุกข์ใจกับการใช้เงิน
4.เขียนสิ่งที่ต้องการออกมาเป็นข้อๆ เพราะความรู้สึก “อยาก” วัดยากแต่ทรงพลังมาก
ตอนไม่ “อยาก” มักใช้เหตุผลทบทวนการใช้เงินได้อย่างถี่ถ้วน วิเคราะห์เรื่อง “จำเป็น” “ควร” “เร่งด่วน” ได้อย่างชัดเจน แต่ในขณะที่ความต้องการหรือความอยากพุ่งทะยาน เหตุผลจะถูกเก็บไว้ในความคิดส่วนลึกและปิดตายทำให้หลายคนวนกลับมาคิดเหตุผลได้หลังตัดสินใจใช้เงินไปแล้ว การเขียนสิ่งที่ต้องการออกมาเป็นข้อๆ นอกจากช่วยให้เราเข้าใจความต้องการยังช่วยให้เราทบทวนสิ่งที่จำเป็นออกจากสิ่งที่ต้องการเพื่อหาสิ่งอื่นทำเพื่อชดเชยอารมณ์ในวันที่อาจไม่พร้อมจะใช้เงินแลกกับความสุข
5.รู้ทัน สุขเป็น อาจเป็นฐานใจในการหาเงินมาเติมสุขถัดๆ ไป
เมื่อสามารถบริหารการเงินได้ ไม่ร้อนรนเมื่อต้องการใช้ ไม่สับสนวุ่นวายในขณะใช้ ไม่กล่าวโทษตนเองหลังใช้ มีอารมณ์ส่วนใหญ่สนุก มีความสุข และสงบ ก็สามารถเป็นฐานของกำลังทางใจที่จะมีแรงสำหรับการทำงานต่อไปเพื่อหาเงิน
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น