Empathy : ตัวช่วยลดความขัดแย้ง เพิ่มความสัมพันธ์

ในสังคมปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีช่วยให้เราเข้าถึงช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็วและสะดวกมากขึ้นแต่สิ่งที่พบคือแม้ว่าเราจะมีช่องทางในการสื่อสารที่ดีรวดเร็วและสะดวกแค่ไหนแต่คนในสังคมกลับมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นน้อยลงเกิดความขัดแย้งต่างๆมากมายความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเปราะบางหลายครั้งในการสื่อสารทำให้เกิดบาดแผลภายในจิตใจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการทำงาน

ปัญหาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มักจะเกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีความคิดเห็น ความเชื่อ ทัศนคติไม่ตรงกัน ซึ่งมาจากประสบการณ์ในอดีตที่แต่ละคนได้พบเจอนั้นแตกต่างกัน การเลี้ยงดู การปลูกฝังทัศนคติต่าง ๆ สภาพแวดล้อมในสังคมรอบตัวก็มีความแตกต่างกัน ประสบการณ์เหล่านี้ต่างหลอมรวมเราเป็นหนึ่งเดียวที่มีความแตกต่างจากคนอื่น ๆ ไม่มีใครเหมือนกับใคร 100%แม้แต่ฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันและอสุจิตัวเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างกัน

แล้วเรามีเครื่องมืออะไร ที่จะช่วยทำให้เราสื่อสารได้เข้าใจกันมากขึ้น หนึ่งในแนวคิดที่นักจิตวิทยาใช้ในการให้คำปรึกษา นั้นก็คือ Empathy

Empathy เป็นความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น โดยการเข้าใจความคิดความรู้สึกของคนอื่นนั้นจะต้องมาจากการมองผ่านมุมมองของคน ๆ นั้น จากจุดที่เขายืนอยู่ หากเป็นเราที่อยู่ในสถานการณ์นั้นก็คงทำเช่นเดียวกันกับเขา ทำให้เราเข้าใจในความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเขา ณ เวลานั้นได้เป็นอย่างดี

คำว่าเข้าใจและเห็นใจมีความแตกต่างกันเห็นใจคือ การที่เรามีความคิดและความรู้สึกร่วมไปกับสิ่งที่เกิดโดยยึดจากตัวเองเป็นศูนย์กลางทางความคิดและความรู้สึกนั้น จะเรียกว่า “Sympathy” การเห็นใจบางครั้งก็นำไปสู่ปัญหาตามมาได้ เนื่องจากเราใช้มุมมองของเราเป็นตัวตัดสินการกระทำของคนอื่น ไม่ได้เข้าใจถึงสาเหตุหรือสถานการณ์แวดล้อมอื่น ๆ รวมถึงไม่สามารถอยู่ในสถานะที่พร้อมจะช่วยเหลือคนอื่นด้วย เพราะสิ่งที่เขาต้องการอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการให้ ทำให้ตอบสนองไม่ตรงกับความต้องการ กลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ได้

แล้วจะทำอย่างไรถึงจะเกิด Empathy ในตัวเราได้

การที่เราจะ Empathy ได้นั้น บางส่วนอาจจะต้องผ่านการฝึกฝน ลองลงมือทำ ซึ่งวิธีการเบื้องต้น เป็นคำพูดที่ดูเรียบง่ายแต่ในการปฏิบัติจริงนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากระดับหนึ่ง นั่นก็คือ การไม่ตัดสิน ไม่ว่าเขาจะทำสิ่งที่เลวร้ายมากแค่ไหน หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มากมายแค่ไหน เราจะต้องไม่ตัดสินว่าเขาเป็นแบบนั้น เขาเป็นแบบนี้  การตัดสินว่าใครเป็นอะไร อย่างไร เป็นความคิดของเรา ไม่ได้เข้าใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะเราตัดสินไปก่อนว่าเขาทำแบบนี้ แสดงว่าเขาจะต้องเป็นคนไม่ดีแน่นอน เมื่อเราตัดสินคนอื่นไปก่อน ความแตกต่างจึงเริ่มเกิดขึ้น เพราะคิดไปเองว่าเขาไม่เหมือนกับเรา จึงเกิดคำว่าพวกฉัน” “พวกเธอ” “พวกเราซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งต่างๆที่เกิดในสังคมปัจจุบัน

แน่นอนว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนคิดเหมือนเรา ทำเหมือนเรา เป็นเหมือนเราได้ แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้ในการที่อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ โดยการเข้าใจเขาในแบบที่เขาเป็น หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง

ผู้เขียน :  มะงึก