ออกกำลังใจเพื่อไปให้ถึงความสุข
ก่อนที่เราจะออกกำลังใจต้องเริ่มจากความเข้าใจก่อนว่า “ความสุขคือความสามารถ” หมายถึง ความสุขคือทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ ความสุขคือ ความสามารถในการเข้าใจตนเอง เข้าผู้อื่น และเข้าใจโลก ซึ่งความสามารถนี้หาไม่ได้จากการเรียนรู้ในระดับความคิดเชิงตรรกะเท่านั้น
เพราะอะไรนั้นเหรอ?
เพราะความสุขคือ ความรู้สึกผันผวนไปตามปัจจัยที่หลากหลายในบริบทต่างๆ และความสุขต้องอาศัยการสะสมการเรียนรู้จากหลายเหตุการณ์รวมมาเป็นทักษะประจำตัว
การออกกำลังใจที่สำคัญที่คือ การเปิดใจยอมรับกับอุปสรรค ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วความทุกข์ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือหนักหนาล้วนซ่อนอยู่ในแต่ละวันเวลาของการใช้ชีวิต การจัดการอารมณ์ในขณะทุกข์ เพื่อให้สามารถประคองตนเองผ่านสถานการณ์นั้นได้และตัดสินใจอย่างรู้เท่าทันคืออาวุธสำคัญในการออกกำลังใจ การแก้ปัญหาด้วยความไตร่ตรองถึงผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และสุดท้ายการทำใจยอมรับกับตนเองว่าคงมีบางปัญหาที่แก้ไขไม่ได้แม้จะให้แรงกำลังลงไปมากแค่ไหนก็ตาม
ออกกำลังใจผ่านกระบวนการเหล่านี้ซ้ำไปซ้ำมา ซ้ำแล้วซ้ำอีก (เหมือนจะหมดหวัง แต่ในความเป็นจริงล้วนมีความทุกข์ใจเข้ามาท้าทายให้เราต้องออกกำลังใจไม่จบสิ้น
“เว้นเสียแต่ การพยายามปกป้องตนเอง และผู้คนที่เราโอบกอดเค้าด้วยความรักไม่ให้พบกับความทุกข์ใจ” ซึ่งอาจทำได้กับบางเหตุการณ์ อาจทำได้ในระยะสั้น แต่มิอาจช่วยให้ได้ทักษะจากการได้ออกกำลังใจและพัฒนาความสามารถในการอดทนต่อทุกข์ และความสามารถในการมีความสุข”
อาทิ พ่อแม่ที่ปกป้องลูกจากความผิดหวัง ตามใจ ปกป้อง จากความรักที่ปะปนไปด้วยความหวาดหวั่นที่มากล้น หรือแม้แต่การปกป้องความทุกข์ให้ตนเองจากการเบี่ยงเบนไปสู่ความสุขอย่างง่ายและฉับไว เมื่อเหตุปรากฎการณ์แห่งความทุกข์ อาทิ การดื่มแอลกอฮอล์เผื่อคลายเครียด การชอปปิงเพื่อผ่อนคลาย เป็นต้น
เพื่อทวนใจให้เห็นความทุกข์และการเรียนรู้สุขของแต่ละช่วงวัย เพื่อให้ได้มีโอกาสออกกำลังใจไปด้วยกัน
วัยเล่น
เปิดโอกาสให้เขาได้ “ล้ม” เพื่อให้ความรู้สึก ส่งสัมผัสนั้นสู่สมอง กระตุ้นการระมัดระวังภัยในอนาคต
เปิดโอกาสให้เขาได้ “เลอะ” เพื่อให้ร่างกายได้เปิดประสบการณ์ในการเรียนรู้กับธรรมชาติรอบตัว ผ่านระบบประสาทสัมผัสทั้งห้า
เปิดโอกาสให้เขาได้ “เละ” เพื่อให้สมองเรียนรู้และมีศักยภาพในการปรับตัว และวางแผน การประสานสัมพันธ์มือ ตา และอารมณ์ภายใน
วัยเรียน
เปิดโอกาสให้เขาค้นหาความสุขจากการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง กระตุ้นการยอมรับผลทั้งสมหวังและผิดพลาดจากการเรียน เป็นกำลังใจในความตั้งใจและความมีวินัย ก่อเกิดความรู้สึกต่อความสามารถในตนเอง สู่สมรรถนะต่อความสุข
วัยรุ่น
เปิดโอกาสให้เขามีสังคมตามวัย ตามความสนใจ โดยไม่ด่วนตัดสินถูกผิด มีท่าทีรับฟัง ส่งเสริมความรู้สึกดีต่อตนเอง การยอมรับข้อจำกัด และกระตุ้นการเรียนรู้ทักษะในการสื่อสารความต้องการและการปฏิเสธ สู่การเคารพตนเองและผู้อื่น หากเปิดใจกระทั่งผู้คนในความดูแลมีความสามารถก้าวผ่านความทุกข์ตามวัยไปสู่การออกกำลังใจให้เกิดความสุขได้ เราก็จะมีความรู้สึกสุขสงบตามมา
วัยผู้ใหญ่
เปิดโอกาสให้ตนได้ล้มเหลว ผิดพลาด ถูกกล่าวโทษ ทั้งในมิติของคนทำงาน ครอบครัว และความรัก ซึ่งความผิดพลาดในช่วงวัยผู้ใหญ่อาจมีความหมายลึกซึ้งถึงขั้นการกล่าวโทษตนเอง หากแต่สามารถยอมรับความรู้สึกได้ จัดการระดับความรู้สึกและแสดงออกอย่างควบคุมได้ และค่อยแก้ปัญหาตามลำดับความสำคัญอย่างค่อยเป็นค่อยไป การออกกำลังใจจะพัฒนาไปสู่ความสามารถในการมีความสุขจากการเริ่มต้นที่จะทุกข์ให้เป็น
เราต่างก็รู้ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบางต้องอาศัยเวลาและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยจึงจะผ่านช่วงเวลาทุกข์ใจได้ ดังนั้นการชื่นชมตนเอง และการอนุญาตให้ตนเองมีความสุขหลังจากสามารถออกกำลังใจผ่านเรื่องราวที่ทุกข์มาได้คือรางวัลที่เหมาะสมต่อการฝึกออกกำลังใจเพื่อไปสู่ความสุข