ใจของผู้สูญเสีย “หัวใจ”
การฆ่าตัวตายไม่เพียงส่งผลต่อผู้ฆ่าตัวตาย แต่ยังส่งผลต่อสมาชิกครอบครัว เพื่อนสนิท
และบุคคลอันเป็นที่รักด้วย ทุกครั้งที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ
สมาชิกครอบครัวของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จอาจรู้สึกอับอาย รู้สึกแปลกแยกจากสังคม
และเกิดความรู้สึกที่เจ็บปวด และในบางรายไม่สามารถตระหนักถึงความรู้สึกของตนเองได้
เป็นความเจ็บปวดที่อาจสร้างตราบาปให้กับสมาชิกครอบครัวของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จได้ในที่สุด
สมาชิกครอบครัวของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จอาจมีพฤติกรรมหลีกหนีสังคม
ขาดประสิทธิภาพในการคงสมาธิและกระทบการทำงาน
มีแนวโน้มใช้สารเสพติดหรืออาจกระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตายตามได้
ผู้ที่ยังมีชีวิต กักขังตัวเองไว้กับความรู้สึกผิด
หรือแม้แต่ในรายที่พยายามฆ่าตัวตามแต่ไม่สำเร็จ
ญาติหรือบุคคลใกล้ชิดก็อาจได้รับผลกระทบให้ต้องระมัดระวังสถานการณ์ที่จะเป็นความเสี่ยงให้เกิดการฆ่าตัวตายซ้ำ กระทั้งเกิดเป็นความกังวล หวาดระแวง กระทบกับกิจวัตร การกิน การนอน และการทำงาน
อาจมีการกล่าวโทษกันเองระหว่างผู้ดูแลว่าใครผิดพลาด ใครเป็นสาเหตุ และหาคนที่ต้องรับผิดชอบ
ผู้ดูแล กักขังตัวเองไว้กับความรู้สึกหวาดระแวง
และการกักขังนี้ สร้างทั้งบาดแผลภายใน และหลุมพรางหลุมใหญ่ไม่ให้ใจเราได้ข้ามผ่าน
แม้ญาติหลายคนจะมีความเข้าใจว่า การตัดสินใจไปสู่ความตาย
เป็นเรื่องซับซ้อนและมีปัจจัยมากมายที่จะทำให้ผู้ที่มีความทุกข์ตัดสินใจไปจากความทุกข์ด้วยความตาย
แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ความทุกข์ ความเศร้าใจ ความรู้สึกผิด และความหวาดระแวง
กลับถาโถมสู่หัวใจอย่างไม่เหลือชิ้นดี
สำหรับเวชปฏิบัติในประเทศไทย
กรมสุขภาพจิตได้กำหนดแนวทางการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจและการเฝ้าระวังผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการ
ฆ่าตัวตายในชุมชนโดยหน่วยบริการสาธารณสุขจะมีการเยี่ยมบ้านสมาชิกในครอบครัวที่มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น
ภายหลังเกิดเหตุการณ์ภายใน 2 สัปดาห์
หากพบว่ามีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจะมีการติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อให้การช่วยเหลือด้านจิตใจ
สังเกตประเมินอาการและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1, 3, 6 เดือนและ 1 ปี
ในระดับบุคคลการฝึกทักษะการรู้เท่าทันเป็นทักษะจำเป็นเพราะความทุกข์ใจจากการสูญเสียนั้นย่อมส่งผลต่อความรู้สึก ความคิดร่างกายอย่างอัตโนมัติและเป็นวงจรที่ซับซ้อน อีกทั้งเราตอบสนองกับความรู้สึกลบนั้นอย่างไม่รู้ตัว
ส่งผลให้บางคงฝังกลบเรื่องราวลงไปในส่วนลึกโดยไม่ได้รับโอกาสให้ได้ทำความเข้าใจกลายเป็นการนำเอาความทุกข์ใจไปแสดงออกในรูปแบบอื่น อาทิ การดื่มสุราและใช้ยาเสพติดหรือในบางคนแสดงออกความรู้สึกอย่างมากเกินไร้ซึ่งการควบคุมไปกลายเป็นพฤติกรรมหุนหันอาจมีแนวโน้มนำไปสู่การทำร้ายตนเองการฝึกษะทักษะรู้เท่าทันจะมีส่วนช่วยในการเห็นวงจรที่เกิดขึ้นและเพื่อเป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะจัดการอารมณ์ และเผชิญความทุกข์ใจ
การฝึกทักษะรู้เท่าทันอาจต้องลงทุนลงแรงเพราะต้องต่อสู้กับวิธีเดิมของตนเองจากที่หนีสุดทางและสู้ทัน
เปลี่ยนเป็นการเฝ้ามองปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดลออโดยเริ่มต้นจากการเฝ้ามองร่างกายที่เปลี่ยนแปลงเมื่อกำลังเผชิญกับความทุกข์ใจว่ามีสิ่งใดกำลังเกิดขึ้นในร่างกายของเราเป็นส่วนๆ ว่ามีความ “ร้อน เย็น หนัก เบา เร็ว ช้า” หรือไม่และอยู่ในระดับใดทำความเข้าใจอารมณ์ผ่านร่างกายที่เปลี่ยนแปลงพร้อมทั้ง “ตั้งชื่อความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น” โกรธเศร้า สับสน รู้สึกผิด”และให้ระดับของความรู้สึกมากน้อย
โดยระมัดระวังการตำหนิตนเองว่า“ไม่ควรรู้สึก”เพราะความรู้สึกเป็นผลผลิตของอดีตอันแสนเจ็บปวดที่กำลังทำงาน ทวนความคิดที่เข้ามาเพราะในหนึ่งความคิดจะปะปนถึงสิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับตนเอง และผู้ที่สูญเสียหรือกำลังอยู่ในความดูแลว่ากำลังคิดอะไรรับรู้ระดับของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมประเมินเป็นระยะว่า“เมื่อไหร่ควรร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น” เช่นคิดวกวน นอนไม่หลับ ขาดสมาธิต่อเนื่อง อ่อนเพลียอยากหลีกหนีผู้คน ใช้สุราและยาเสพติดเพื่อลดความรู้สึกด้านลบ อารมณ์สลับไปมาเศร้า-กังวล-หงุดหงิดมีความคิดกล่าวโทษตนเอง และมีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง หากเกิดสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มที่จะสงบลงตามลำดับเวลา
นับเป็นสัญญานที่สำคัญว่าเราอาจต้องร้องขอความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เราไว้ใจ หรือวิชาชีพด้านจิตใจ
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น