- เมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือนักเรียนได้อาจเป็นครูแนะแนว ตลอดจนนักจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่การศึกษา ไปจนถึงจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น/นักจิตวิทยา แต่จากข้อมูลดูเหมือนจะไม่เพียงพอ
- นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 63 คน ดูแลโรงเรียนในสังกัด 2,360 โรงเรียน โดยมีนักเรียน 2,674,447 คน เฉลี่ยแล้วมีนักจิตวิทยาโรงเรียนมากสุดเพียง 1 คนต่อ 1 จังหวัด
- ประเทศไทยมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพียง 240 คน โดยกว่าร้อยละ 39 ของจิตแพทย์เหล่านี้ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทำให้ในจังหวัดอื่นๆ มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเฉลี่ยเพียง 1-2 คนต่อจังหวัด และใน 25 จังหวัดไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเลย
- ส่วนนักจิตวิทยามีเพียง 815 คนทั่วประเทศ โดยร้อยละ 24 กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีนักจิตวิทยาเฉลี่ยเพียงจังหวัดละ 8 คน และมีถึง 4 จังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาในจังหวัด ได้แก่ แพร่, สมุทรสงคราม, หนองบัวลำภู และอ่างทอง
ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนไทยกำลังทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีปัจจัยหลากหลายที่ส่งผลกระทบ เช่น ความกดดันจากการเรียน การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความขัดแย้งในครอบครัว รวมถึงการเผชิญกับสื่อและเทคโนโลยีที่เพิ่มความเครียดและความวิตกกังวล แต่เมื่อเด็กและเยาวชนเหล่านี้พบกับปัญหาทางจิตใจ คำถามที่ตามมาคือ พวกเขาจะหันไปพึ่งพาใครได้? ระบบที่เป็นอยู่และทรัพยากรสาธารณสุขที่มีอยู่นั้นเพียงพอหรือไม่?
เนื่องในโอกาสวันสุขภาพจิตโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี Rocket Media Lab ชวนสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทยในสถานศึกษา การเข้าถึงทรัพยากรด้านสาธารณสุขสำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ และความเพียงพอของระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อทำความเข้าใจว่าการช่วยเหลือและสนับสนุนที่มีอยู่สามารถตอบสนองความต้องการของเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
เด็กเกิดปัญหา พึ่งพาใครได้บ้าง?
จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น อายุไม่เกิน 18 ปี ของกรมสุขภาพจิตในปี 2566 พบว่าเด็กและเยาวชนร้อยละ 19.68 มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย และอีกร้อยละ 11.69 เสี่ยงซึมเศร้า ไม่เพียงแค่นั้นจากการสำรวจข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต ทั้งความเครียด วิตกกังวลในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา (ม.1-6) และ ปวช. (1-3) จำนวน 3,516 คน ของ Rocket Media Lab ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ ยังพบว่า เด็กในวัยเรียนที่มีความเครียดวิตกกังวลเกินครึ่งอยากได้การสนับสนุน หรือความช่วยเหลือเพื่อช่วยจัดการกับความเครียดตั้งแต่ครูแนะแนวที่สามารถให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง, นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน, ช่องทางให้คำปรึกษาในรูปแบบออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญ, การเข้าถึงนักจิตวิทยาในสถานพยาบาลได้โดยง่าย ไปจนถึงสายด่วนให้คำปรึกษา 24 ชั่วโมง
ตัวเลขและข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนจำนวนมากมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางจิตใจ แต่การแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตในระบบการศึกษายังเผชิญอุปสรรคใหญ่คือการขาดแคลนบุคลากรทางจิตวิทยาที่สามารถให้การช่วยเหลือและดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึงและครอบคลุม
ครูประจำชั้น/ครูแนะแนว ที่พึ่งแรกของวัยเรียน
ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จะมีการบรรจุตำแหน่งนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนไว้เพื่อดูแลนักเรียนอย่างเป็นระบบ แต่ในประเทศไทย โรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่มีตำแหน่งนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน หรือมีไม่พอที่จะดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ด่านแรกในการประเมินและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนจึงตกอยู่ที่ครูประจำชั้นหรือครูแนะแนว
ข้อมูลสถิติทางการศึกษา ปี 2566 จากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่า เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) มีนักเรียนในสังกัดจำนวน 2,939,295 คน ใน 26,702 โรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) มีนักเรียนในสังกัด 2,674,447 คน ใน 2,360 โรงเรียน รวมจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 5,613,742 คน ใน 29,062 โรงเรียน
กัญญาภัทร์ สุทธิวรรค ครูแนะแนวโรงเรียนกันทรลักษ์วิทยา จังหวัดศรีสะเกษ ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการทำงานว่า ปัจจุบันดูแลนักเรียนชั้น ม.5 เนื่องจากอยู่ในโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่พิเศษ แต่ละระดับชั้นก็จะมีครูแนะแนว 1 คน หากเป็นก่อนหน้านี้ ที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กที่จ.สุรินทร์ ครูแนะแนว 1 คนก็จะดูแลทุกระดับชั้น
จากข้อมูลนี้ Rocket Media Lab ลองตั้งสมมติฐานให้โรงเรียนที่สังกัด สพฐ. แต่ละโรงเรียนมีครูแนะแนวที่สามารถให้คำปรึกษาได้อย่างน้อย 1 คน ต่อ 1 โรงเรียน โรงเรียนในเขตพื้นที่ สพป. จะมีครูแนะแนวประมาณ 26,702 คนที่คอยดูแลนักเรียน เทียบสัดส่วนเป็นครู 1 คน ต้องรับผิดชอบดูแลนักเรียนประมาณ 100 คน ในขณะที่โรงเรียนเขตพื้นที่ สพม. จะมีครูแนะแนวประมาณ 2,360 คน โดยครู 1 คน ต้องดูแลนักเรียนไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ทั้งนี้ในเอกสารมาตรฐานการแนะแนว โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดอัตราส่วนจำนวนครูแนะแนวต่อผู้เรียน ไว้ที่ 1 : 500
โดยปรกติแล้ว หากนักเรียนมีปัญหาสุขภาพจิตมักจะปรึกษาครูประจำชั้นหรือครูแนะแนว โดยหากครูแนะแนวพิจารณาแล้วพบว่านักเรียนคนดังกล่าวต้องการความช่วยเหลือ ก็จะสามารถทำได้ทั้งส่งต่อไปยังนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อประเมินและส่งต่อไปยังบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่รักษาเยียวยาโดยตรง หรือครูแนะแนวเองก็สามารถส่งต่อนักเรียนตรงไปยังบุคลากรการแพทย์ได้เลยในกรณีที่มีความร้ายแรงและเร่งด่วน หรือหากกระบวนการส่งต่อไปยังนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษาอาจจะทำให้ล่าช้าจนเกินไป
สำหรับกระบวนการดูแลนักเรียน กัญญาภัทร์เล่าว่า จะมีครูที่ปรึกษาคัดกรองก่อน จากนั้นจะส่งมาที่ครูแนะแนว พอครูแนะแนวพูดคุยข้อมูลเบื้องต้น หากคุยแล้ว ไม่มีปัญหาหนัก ก็สามารถพูดคุยในโรงเรียนได้ แต่หากเห็นว่าต้องพบนักจิตวิทยา ก็จะส่งต่อให้โรงพยาบาล เนื่องจากทุกวันนี้โรงพยาบาลและโรงเรียนมีส่วนร่วมกันในเรื่องการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน นอกจากนี้ยังมีบริบทของพื้นที่ คือ โรงเรียนกับโรงพยาบาลห่างกันเพียง 1 กม. ขณะที่โรงเรียนกับเขตการศึกษา ห่างกัน 100 กม. ทำให้การส่งไปที่โรงพยาบาลเลยทันสถานการณ์กว่า เพราะเคสที่ต้องส่งไปที่นักจิตวิทยาในโรงพยาบาล จะเป็นเคสหนัก เช่น เริ่มมีการกรีดข้อมือ หรือกินยาเกินขนาด
นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษา คือใคร? ทำอะไร?
นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตการศึกษา มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยทำงานร่วมกับครูแนะแนวหรือครูในพื้นที่ในเขตการศึกษา เพื่ออบรมและให้ความรู้ในกระบวนการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ครู และเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนในชั้นเรียน หน้าที่ของนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษา ยังรวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของเด็กนักเรียน เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และหาวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสม นอกจากนี้ นักจิตวิทยายังมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและดูแลเด็กนักเรียนที่ประสบปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งอาจได้รับการส่งต่อจากครูในโรงเรียน เมื่อพบว่านักเรียนต้องการความช่วยเหลือเชิงลึก นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษาจะทำงานร่วมกับครูและบุคลากรอื่นๆ เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนอย่างเหมาะสม และหากมีกรณีที่เด็กต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษาจะส่งต่อนักเรียนไปยังบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทย มีการแบ่งเขตการศึกษาออกเป็น 2 ระดับ คือ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 183 เขต และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 62 เขต โดยมีนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่ สพป. 183 คน ดูแลโรงเรียนในสังกัด 26,702 โรงเรียน โดยมีนักเรียน 2,939,295 คน และนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่สพม. 63 คน ดูแลโรงเรียนในสังกัด 2,360 โรงเรียน โดยมีนักเรียน 2,674,447 คน จากข้อมูลจะพบว่า นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 63 คน กระจายอยู่ใน 62 เขต เฉลี่ยแล้วมีนักจิตวิทยาโรงเรียนเพียง 1 คนต่อ 1 สพม. ขณะที่มีถึง 14 สพม.ที่มีพื้นที่รับผิดชอบโรงเรียนรวม 2 จังหวัด คือ สพม.จันทบุรี ตราด, สพม.ชลบุรี ระยอง, สพม.ตรัง กระบี่, สพม.ปราจีนบุรี นครนายก, สพม.พิษณุโลก อุตรดิตถ์, สพม.ลำปาง ลำพูน, สพม.เลย หนองบัวลำภู, สพม.ศรีสะเกษ ยโสธร, สพม.สงขลา สตูล, สพม.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม, สพม.สิงห์บุรี อ่างทอง, สพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร, สพม.อุทัยธานี ชัยนาท และสพม.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัดรวม 682 โรงเรียน ในจำนวนนี้มีเพียง สพม.สิงห์บุรี อ่างทอง เท่านั้นที่มีนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำอยู่ 2 คน นอกจากนั้นมีเพียง สพม. ละ 1 คนเท่านั้น และอีก 1 สพม. ที่ต้องดูแลครอบคลุมโรงเรียนถึง 3 จังหวัด ได้แก่ สพม.พังงา ภูเก็ต ระนอง ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัดรวม 27 โรงเรียน แต่นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตเพียงคนเดียว
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเป็นอีกหนึ่งบุคลากรที่ดูแลรับผิดชอบปัญหาสุขภาพจิตของเด็กนักเรียนโดยตรง ก็ยังมีไม่เพียงพอและต้องรับผิดชอบทั้งโรงเรียนและเด็กนักเรียนจำนวนมากอีกด้วย
ธัญญรัศม์ ฤาชา นักจิตวิทยาประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ให้สัมภาษณ์ถึงขอบเขตการทำงานว่า สำหรับเขตพื้นที่ที่ตนประจำอยู่ สมุทรสงครามมี 9 โรงเรียน สมุทรสาครมี 11 โรงเรียน โดยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และใหญ่พิเศษ ไม่กี่แห่ง รวมแล้วมีนักเรียน 2 หมื่นกว่าคน
สำหรับกระบวนการทำงานร่วมกับโรงเรียน อันดับแรก เมื่อโรงเรียนคัดกรองนักเรียนรายบุคคลและเยี่ยมบ้านแล้ว จะแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มปกติ เช่น มองว่า มีความเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกรณีอยู่กับครอบครัวที่ไม่ใช่ครอบครัวตัวเอง อาจมีความเสี่ยงเรื่องการทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาสุขภาพจิต ก็จะจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาและหาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหา ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ก็จะมีการส่งต่อภายในให้ครูแนะแนว ครูฝ่ายปกครองและครูที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน
“ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจส่งมาที่เขต หรือส่งต่อสาธารณสุข โรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องส่งเขต ถ้ามีปัญหาเร่งด่วนเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่นักเรียนต้องได้รับการดูแลจากนักจิตคลินิกหรือจิตแพทย์ ก็สามารถส่งต่อได้เลย หรือกรณีเด็กถูกทำร้าย สามารถส่งบ้านพักเด็กได้ จะยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ แต่ก็จะมีการแจ้งมาที่เขตเพื่อให้เขตรับทราบเบื้องต้น”
นอกจากประจำการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ซึ่งตั้งอยู่ในจ.สมุทรสาครแล้ว ธัญญรัศม์ก็จะไปนั่งประจำที่ศูนย์แนวแนวที่จ.สมุทรสงครามด้วย โดยทุกเขตจะมีศูนย์แนะแนวประจำจังหวัด โดยจะเลือกมา 1 โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ตั้งของศูนย์แนะแนว จะดูแลงานแนะแนว งานสุขภาพจิตทั้งหมด โดยจะดูแลโรงเรียนเครือข่ายอื่นๆ ด้วย จ.สมุทรสงคราม จะมีโรงเรียนมัธยม 9 แห่งโดยมีโรงเรียนศรัทธาสมุทร เป็นศูนย์แนะแนวประจำจังหวัด
สำหรับการทำความรู้จักกับนักเรียนและคุณครู ทำผ่านกิจกรรมประชุมระดับชั้นในโรงเรียน จะมีการบรรยาย เช่น เรื่องการจัดการความเครียด มีกิจกรรมให้ลองทำตาม เช่น สูดลมหายใจเข้าลึกๆ นักเรียนก็จะขอช่องทางติดต่อ ซึ่งเธอก็ยินดีให้ช่องทางติดต่อไว้ รวมถึงบอกนักเรียนว่า ถ้าอยากติดต่อ สามารถมาลงชื่อไว้กับคุณครูได้เลย หรือติดต่อโดยตรงก็ได้ นอกจากนี้ เวลาไปประชุมนิเทศก่อนเปิดภาคเรียน ก็จะบอกคุณครูว่ายินดีลงมาช่วยที่โรงเรียน คุณครูก็จะรู้จักนักจิตวิทยาจากตรงนั้น แล้วไปประชาสัมพันธ์กับนักเรียนต่อว่ามีนักจิตวิทยาของเขต
“workload สำหรับนักจิตวิทยา 1 คน ค่อนข้างหนัก เราก็ไม่อยากโกหกว่าเราดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง 2 หมื่นคน มัน load อยู่แล้ว ของเรายังดีหน่อย ที่มีครูแนะแนวที่ช่วยคัดกรองเบื้องต้น ถ้ามีเคสที่เขาดูแลได้ เขาก็จะแก้ปัญหาเอง เท่าที่พบยังเจอเคสที่ยังสามารถดูได้อยู่”
ไม่ใช่แค่ครูหรือนักจิตวิทยาประจำเขตการศึกษาที่ขาดแคลน บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนก็มีไม่เพียงพอ
นอกจากความท้าทายในระบบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการขาดแคลนบุคลากรแล้ว ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขในภาพรวมก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการดูแลสุขภาพจิตเด็กในประเทศไทย ซึ่งหากพิจารณาถึงจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านสุขภาพจิตของเด็กโดยตรงยังพบว่า จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2567 ระบุว่าประเทศไทยมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพียง 240 คน โดยกว่าร้อยละ 39 ของจิตแพทย์เหล่านี้ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทำให้ในจังหวัดอื่นๆ มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเฉลี่ยเพียง 1-2 คนต่อจังหวัด และใน 25 จังหวัดไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเลย
ขณะที่นักจิตวิทยาประจำโรงพยาบาล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็กที่ประสบปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากนักจิตวิทยามีความเชี่ยวชาญในการประเมินและบำบัดด้านจิตใจ ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กที่ต้องการการฟื้นฟูทางจิตใจ การทำงานของนักจิตวิทยามุ่งเน้นการช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจและจัดการกับปัญหาทางจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2566 ระบุว่าประเทศไทยมีนักจิตวิทยาเพียง 815 คน โดยร้อยละ 24 กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีนักจิตวิทยาเฉลี่ยเพียงจังหวัดละ 8 คน และมีถึง 4 จังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาในจังหวัด ได้แก่ แพร่, สมุทรสงคราม, หนองบัวลำภู และอ่างทอง
การขาดแคลนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นรวมถึงนักจิตวิทยา ส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เด็กที่มีภาวะซึมเศร้าหรือเสี่ยงฆ่าตัวตาย แต่ยังครอบคลุมถึงเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม การปรับตัว และความวิตกกังวลที่อาจไม่ได้รับการสังเกตเห็นหรือรักษาได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เด็กเหล่านี้อาจเผชิญกับปัญหาทางอารมณ์และจิตใจที่สะสมและทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันเวลา ในกรณีที่รุนแรง เด็กอาจพัฒนาไปสู่การมีปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรังซึ่งอาจต้องใช้การรักษาอย่างยาวนาน
กระทรวงศึกษาแก้ปัญหานี้อย่างไร ?
ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและนักเรียนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง หากปัญหานี้ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต เช่น การหลุดจากระบบการศึกษา ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งปัญหาทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล และการคิดทำร้ายตัวเอง
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงมีความพยายามที่จะการออกแบบโครงการ หรือนโยบายต่างๆ เพื่อมาป้องกันและให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาสุขภาพจิต ตัวอย่างหนึ่งคือ โครงการ YC (Youth Counselor) ที่เริ่มในปี 2551 ซึ่งเป็นกิจกรรมชมรมที่มีการคัดเลือกนักเรียนที่มีทักษะการสื่อสารและให้คำปรึกษา เพื่อเป็นเพื่อนที่คอยให้คำปรึกษากับเพื่อนนักเรียนภายใต้การดูแลของครูแนะแนว
ต่อมาในปี 2562 ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น ได้กล่าวกับสำนักข่าวมติชน ถึงการเพิ่มจำนวนบุคลากร เช่น นักจิตวิทยาหรือครูแนะแนวที่มีความรู้เรื่องโรคซึมเศร้า ว่าจะไม่มี
การเพิ่มครูเข้ามาอีก เพราะจากที่ดูข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่าครูของกระทรวงศึกษาธิการมีเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มครู แต่จะใช้การอบรบรมครูแนะแนว หรือครูประจำชั้น เพื่อเพิ่มความรู้ทักษะในเรื่องโรคซึมเศร้าเข้าไปแทน จากนโยบายดังกล่าว ทำให้ในปี 2563 สพฐ. ประสานความร่วมมือไปยังสมาคมนักจิตวิทยาแนะแนว และสมาคมนักจิตวิทยาคลินิก เพื่ออบรมครูประจำชั้นให้กับสถานศึกษาสังกัด สพฐ. จำนวน 29,871 แห่ง ผ่านโครงการ 1 โรงเรียน 1 นักจิตวิทยา (1 School 1 Psychologist) เพื่อให้ครูประจำชั้นมีความรู้ด้านจิตวิทยาในการดูแลเด็ก โดยมีการจัดอบรมหลักสูตรจิตวิทยาพื้นฐานและการให้คำปรึกษา ใช้เวลาในการฝึกอบรม 3 วัน รวม 32 ชั่วโมง โดยโครงการนี้มีผู้เข้าอบรมทั้งหมด 8 รุ่น รวม 1,800 คน
กัญญาภัทร์ ครูแนะแนวโรงเรียนกันทรลักษ์วิทยา จังหวัดศรีสะเกษ ให้ความเห็นเพิ่มถึงนโยบาย 1 โรงเรียน 1 นักจิตวิทยา โดยมองว่ามีส่วนช่วยได้ จากประสบการณ์ที่เคยเข้าอบรม เห็นว่าครูบางคนในโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้เรียนจบเอกแนะแนวโดยตรง ก็ได้เรียนรู้ว่าการให้คำปรึกษาคืออะไร หากมีปัญหา จะทำอย่างไร ส่งออกอย่างไร แล้วก็นำมาบริหารจัดการในโรงเรียน รวมถึงอธิบายให้คุณครูทุกคนได้เข้าใจด้วย
สำหรับปัญหาเรื่องบุคลากร กัญญาภัทร์มองว่า ควรที่จะเพิ่มจำนวนทั้งครูแนะแนวในโรงเรียนและนักจิตวิทยาประจำสำนักงานเขต ปัจจุบัน บางโรงเรียนไม่ได้มีครูแนะแนวที่จบเอกแนะแนวโดยตรงมา เช่น รร.มัธยมขนาดเล็ก อาจเป็นครูที่สอนวิชาอื่น แต่ถ้าเป็นรร.ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หลายเขตเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญ เลยบรรจุให้รร.นั้นๆ เช่น รร.กันทรลักษ์วิทยา เป็นรร.ขนาดใหญ่พิเศษ นักเรียน 3,600-3,700 คน มีครูแนะแนว 4 คน ถ้าถามว่าเพียงพอไหม ต้องบอกว่า ไม่เพียงพอ
“ในฐานะครูแนะแนว อยากได้บุคลากรที่จะมาดูแลซัพพอร์ตนักเรียน เราทำงานกับนักเรียนเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาของนักเรียนทุกวันนี้เยอะและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เด็กสมัยนี้กับสมัยเราไม่เหมือนกัน อะไรเล็กๆ น้อยๆ เขาก็จะเก็บมาคิด เก็บมาเครียด วิตกกังวล พอคุยกับผู้ปกครอง บางคนก็จะบอกว่า เด็กจะเครียดอะไร เงินก็ไม่ได้หา เราก็ต้องบอกว่าอย่าพูดอย่างนั้นนะคะคุณแม่ ต้องอธิบายว่า เด็กทุกวันนี้แข่งขันสูง แม่ต้องค่อยๆ พูด เราก็ต้องพูดกับผู้ปกครองของเขาด้วย ไม่ใช่ว่าคิดว่าเด็กจะเครียดไม่ได้ จริงๆ แล้วเด็กเครียดตั้งแต่อนุบาลด้วยซ้ำ ยิ่งในโรงเรียนที่แข่งขันสูง ความเครียดก็จะยิ่งเยอะ”
ขณะที่ธัญญรัศม์ นักจิตวิทยาประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงครามเสนอว่าควรสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนมีนักจิตวิทยาโรงเรียนที่สามารถเข้าไปดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้ เพราะนักจิตวิทยาจะดูแลงานเกี่ยวกับสุขภาพจิตโดยตรง ขณะที่ครูแนะแนวอาจมีงานที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียนด้วย เช่น งานทุนการศึกษา เมื่อถามถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติม ธัญญรัศม์ มองถึงความก้าวหน้าในสายงานนักจิตวิทยา โดยปัจจุบันนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นพนักงานราชการ อยากได้ความก้าวหน้าเป็นข้าราชการ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน
“บางเขตอยู่มา 4 ปีก็เป็นยังเป็นพนักงานราชการ ส่วนตัวภูมิใจในหน้าที่การงาน ที่ได้เข้ามาทำงานเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ไม่ว่าจะตำแหน่งไหนก็ยินดี แต่ถ้าได้เป็นข้าราชการก็จะเป็นขวัญกำลังใจให้เรา”
ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-mental-health-personnel/