Fetishism อีกหนึ่งเฉดสีของชีวิตเซ็กซ์

Fetishism อีกหนึ่งเฉดสีของชีวิตเซ็กซ์

เฟติชคืออะไร?

เฟติช (Fetishism) หรือ ความคลั่งไคล้ทางเพศ หมายถึง จินตนาการ แรงกระตุ้น หรือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัตถุที่ไม่มีชีวิต เช่น ชุดชั้นในสตรี หรืออวัยวะที่ไม่ใช่อวัยวะเพศ เพื่อสนองกามารมณ์ของตนเอง เนื่องจากจินตนาการทางเพศมีความหลากหลายอย่างมาก เฟติชจึงอาจเป็นเพียงการแสดงออกถึงความแตกต่างในแง่ของความสนใจทางเพศและความเร้าอารมณ์ทางหนึ่งก็เป็นได้

ความแพร่หลายของเฟติช

งานวิจัยทางจิตวิทยา “Relative Prevalence of Different Fetishes” โดย Scorolli et al. ได้ทำการสำรวจกลุ่มสนทนาเกือบ 400 กลุ่ม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 5,000 คน พบว่า เฟติชที่มีความแพร่หลายมากที่สุด คือ ส่วนต่างๆ ของร่างกายและวัตถุที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย (33 เปอร์เซ็นต์ และ 30 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ) โดยในบรรดาส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความคลั่งไคล้เท้ามีสัดส่วนที่กว้างถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยของเหลวในร่างกาย เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ และเลือด ความชอบของผู้คนที่มีต่อพฤติกรรมของผู้อื่นคิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ต่อของตนเองคิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ และมีเฟติชเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไม่เกี่ยวข้องกับร่างกาย

สาเหตุของการเกิดเฟติช

โดยทั่วไป เฟติชมักเกิดจากการได้ประสบพบเจอสิ่งเร้าที่น่าพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือสถานการณ์ ซึ่งในหลายกรณี อาจเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ ผู้คนอาจได้สัมผัสกับเสื้อผ้า หนัง ตุ๊กตา ลาเท็กซ์ หรือส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางเพศ และพบว่าเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจ พวกเขาจึงยังคงใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อสนองกามารมณ์ของตนเองต่อไป

ในทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายได้โดยอาศัยแนวคิดของ “Signal Crossing” หรือ “การเชื่อมสัญญาณ” กล่าวคือ ในสมองของมนุษย์ ทางเดินประสาทสัมผัสในแต่ละพื้นที่ จะทำงานสอดคล้องกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ในกรณีของความคลั่งไคล้เท้า ส่วนหนึ่งของสมองที่ถูกกระตุ้นเมื่ออวัยวะเพศถูกกระตุ้นนั้น อยู่ติดกับส่วนของสมองที่เชื่อมโยงกับเท้า ดังนั้น จึงมีทฤษฎีที่ว่า เนื่องจากเซลล์ประสาทในบริเวณเหล่านี้ของผู้คนบางกลุ่มมีความซ้อนทับกัน ส่งผลให้พวกเขาสามารถมีความตื่นตัวทางเพศที่เกิดจากเท้าได้นั่นเอง

ผลกระทบของเฟติช

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เมื่อคนเราเกิดความหลงใหลหรือสนใจในไลฟ์สไตล์หนึ่งๆ การเติมเต็มความปรารถนานั้นจะเป็นตัวกำหนดว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพหรือไม่ ในกรณีของเฟติช จิตแพทย์ระบุว่า “พาราฟีเลีย” (Paraphilia) มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การใช้วัตถุซึ่งมักไม่เป็นอันตรายกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ไปจนถึงความคลั่งไคล้ทางเพศที่ปลุกปั่นความไม่พอใจในระดับสากล เช่น การล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กและกามวิตถารเด็ก

คู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 5 หรือ DSM-5 ไม่ได้พิจารณาว่า พาราฟีเลียเป็นปัญหา เว้นแต่จะทำให้เกิดความทุกข์แก่ตนเองหรือเป็นอันตรายต่อผู้อื่น หากความคลั่งไคล้ทางเพศของบุคคลใดทำให้ตนเองรู้สึกไม่สบายใจหรือทำร้ายผู้อื่น พวกเขาอาจมีสิทธิ์ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็น “โรคกามวิปริต” ซึ่งสัญญาณของความเจ็บป่วยทางจิตข้างต้น คือ เมื่อความคลั่งไคล้ทางเพศนั้นข้ามเส้นจากจินตนาการไปสู่ความหลงใหล และพวกเขาไม่สามารถดึงดูดใจทางเพศกับสิ่งใดได้เลย เว้นแต่จะเกี่ยวข้องกับเฟติชดังกล่าวเท่านั้น

เฟติชเป็นโรคหรือความผิดปกติหรือไม่?

DSM-5 นิยามว่า “ความผิดปกติ” ของความคลั่งไคล้ทางเพศ คือ การที่บุคคลมีจินตนาการหรือการกระตุ้นทางเพศซ้ำๆ อย่างรุนแรงต่อเนื่องกันเป็นเวลาหกเดือนขึ้นไป ซึ่ง “ทำให้เกิดความทุกข์หรือความบกพร่องในการทำงาน” ของร่างกาย ผู้ที่มีความผิดปกติดังกล่าวจะไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้ ยกเว้นเมื่อมีการใช้งานสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเฟติชของพวกเขาเท่านั้น ทำให้เกิดความรู้สึกละอายและทุกข์ใจอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่มีทางที่จะถูกกระตุ้นโดยใช้สิ่งเร้าทั่วไปได้ ความผิดปกติของความคลั่งไคล้ทางเพศยังส่งผลให้สุขภาวะทางเพศไม่แข็งแรงหรือเป็นผลลบอีกด้วย อาทิเช่น คนที่เคยประสบกับ Dacryphilia หรือความเพลิดเพลินตื่นตัวที่มาจากการร้องไห้หรือน้ำตา เป็นต้น

นักวิจัยชี้ว่า การรักษาความผิดปกติของเฟติชที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ได้แก่ เพศศึกษา การฝึกทักษะทางสังคม และการบำบัดพฤติกรรม นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาเข้าช่วย เช่น ยาต้านแอนโดรเจน (Androgen) หรือ ฮอร์โมนเพศชาย เพื่อลดแรงขับและจินตนาการทางเพศ และยากลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) ซึ่งเป็นยาต้านเศร้า (Antidepressant) เพื่อปรับปรุงอารมณ์ ยิ่งไปกว่านั้น การผสมผสานเฟติชเข้ากับสุขภาวะทางเพศตามปกติ ก็ช่วยให้สามารถควบคุมและปรับตัวเข้ากับความคลั่งไคล้ทางเพศดังกล่าวได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีความคลั่งไคล้เท้าอาจใส่การนวดเท้าหรือกิจกรรมที่สนุกสนานอื่นๆ ในความสัมพันธ์ทางเพศของพวกเขา พาราฟีเลียที่ไม่เป็นอันตรายอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน จึงสรุปได้ว่า เฟติชไม่ใช่โรคหรือความผิดปกติ ทว่าความคลั่งไคล้ทางเพศที่มากหรือรุนแรงเกินไปก็สามารถนำไปสู่ความผิดปกติได้ ตราบใดที่ความเจ็บป่วยทางจิตยังพัวพันกับอุดมคติทางวัฒนธรรมที่มีถูกและผิด การจัดการเรื่องละเอียดอ่อนเช่นความต้องการทางเพศก็จะยังคงเป็นความท้าทาย

ถ้าสงสัยว่าตนเองมีความผิดปกติของเฟติชควรทำอย่างไร?

หากสงสัยว่าพฤติกรรมของตนเองมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความผิดปกติของความคลั่งไคล้ทางเพศหรือโรคกามวิปริต ท่านสามารถติดต่อสอบถามคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 เพื่อดำเนินการตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาเป็นลำดับถัดไป

Content Creator:

นางสาวชลธร ยงยุคันธร นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน

 

Editor and Artwork creator:

นางสาวสุพิชฌาย์ อนุวงศ์วรเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

 

References:

Cassata, C. (2019, October 16). Sexual fetishes: What causes them? Healthline. Retrieved May 22, 2022, from https://www.healthline.com/health-news/what-causes-sexual-fetishes 

Renee Sorrentino, M. D. (n.d.). DSM-5 and paraphilias: What psychiatrists need to know. Psychiatric Times. Retrieved May 22, 2022, from https://www.psychiatrictimes.com/view/dsm-5-and-paraphilias-what-psychiatrists-need-know 

The science of fetishes – University of Richmond. (n.d.). Retrieved May 22, 2022, from https://scholarship.richmond.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1014&context=osmosis 

Scorolli, C., Ghirlanda, S., Enquist, M., Zattoni, S., & Jannini, E. A. (2007, February 15). Relative prevalence of different fetishes. Nature News. Retrieved May 22, 2022, from https://www.nature.com/articles/3901547 

Ventriglio, A., Bhat, P. S., Torales, J., & Bhugra, D. (2019, April). Sexuality in the 21st century: Leather or rubber? fetishism explained. Medical journal, Armed Forces India. Retrieved May 22, 2022, from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6495465/