ความสุขเริ่มได้ที่ “ใจ” เรา
“เมื่อพูดถึงความสุข คงเป็นความรู้สึกที่หลายคนตามหา เฝ้ารอ ไขว้คว้า” ถ้ามองจากสมการนี้อย่างตรงไปตรงมา ความสุข เป็นผลผลิตจากกระบวนการ ตามหา เฝ้ารอ ไขว่คว้า ตรงกันข้ามกลับพบว่ามีผู้คนไม่น้อยที่พยายามมากในการ “ตามหา เฝ้ารอ และไขว่คว้า” แต่กลับไม่สามารถรับรู้ได้ถึงความสุข
ก่อนอื่นเราอาจต้องทำความเข้าใจตรงกันก่อนว่า “ความสุข” คือความรู้สึก ซึ่งธรรมชาติของความรู้สึกนั้นเข้ามาได้ก็จางหายได้ เมื่อมีความสุขก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นทุกข์ใจได้ บางครั้งก็มีความสุขอย่างเบาบาง บางครั้งก็สุขล้นจนก็ถาโถม เปรียบได้ดังเส้นบะหมี่โค้งขดขึ้นลง ที่อาจแข็งแรงหรือขาดได้ทุกเมื่อ การเข้าใจธรรมชาติของ ความรู้สึกสุข เป็นหนึ่งในความสามารถที่จะมีความสุข
อีกทั้ง “ความรู้สึกสุข” อาจไม่ได้มีเพียงความสุขแบบพึงพอใจที่ได้ตามความคาดหวังเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วความสุขมีหลากหลายเฉด หลากหลายที่มา ปะปนกับเราในทุกๆ วัน
หลายคนคงเคยเล่น “ค้อน กรรไกร กระดาษ” หรือ “เป่า ยิ้ง ฉุบ” หากได้เล่นอีกครั้งลองสังเกตความรู้สึกของตนเองใน 3 สถานการณ์ที่แตกต่างกัน
หนึ่งในขณะที่กำลังเล่น สบตาคู่ต่อสู้ ลุ่นว่าเขาจะออกอะไร เราจะออกอะไร ในขณะที่รอยยิ้มเปื้อนหน้า ความรู้สึกชนิดที่ปะปนอยู่กับการลงมือทำอาจเรียกได้ว่า Enjoyment
สองการออกท่าค้อน หรือสิ่งอื่นด้วยการสุ่ม แล้วเกิดชนะแบบไม่ตั้งตัว ในขณะที่หัวใจเต้นแรง ความรู้สึกสุขที่ได้ในสิ่งที่คาดหวังไว้อาจเรียกได้ว่า Happy
สามเล่นชนะเพราะการเฝ้าสังเกตและเก็บข้อมูลว่าคู่ต่อสู้มักออกอาวุธอะไร จนสามารถเดาทางได้ ความรู้สึกที่ออกกำลังกาย กำลังสมอง และสามารถได้ตามเป้าอาจเรียกได้ว่า Mastery
..จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกสุขมีหลากหลาย และอาจปะปนอยู่ได้ในทุกสถานการณ์ การค่อยๆ ฝึกสังเกตความรู้สึกสุข ความคิด และที่มาของความรู้สึก เป็นอีกทักษะสำคัญในการมีความสุข
แต่ชีวิตจริง ไม่ใช่เกม “เป่า ยิ้ง ฉุบ” ที่จะเล่นกี่ครั้งก็ได้ หรือการเล่นแพ้คือสิ่งแย่ที่สุด แต่ชีวิตกลับมีความซับซ้อน ดังนั้นนอกจากเข้าใจธรรมชาติของ “ความรู้สึก” และ “การฝึกสังเกตความสุข” การมีทักษะเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตเป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับ “ความสามารถในการมีความสุข”
มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ศึกษาเรื่อง well-being หรือภาวะสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ ซึ่งทำให้คนเราพึงพอใจในทุกด้านของชีวิตและมีความสุขกับตัวเอง รวมถึงเป็นผู้วางรากฐานศึกษาศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกหรือ Positive Psychology กล่าวว่า แท้จริงแล้วความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนสร้างได้เอง แต่ต้องรู้จักองค์ประกอบหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขเสียก่อน แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนความคิดและความเป็นอยู่ให้ชีวิตรับรู้ได้ถึงความสุขเหล่านั้น ซึ่งมีทั้งหมด 5 องค์ประกอบ เรียกรวมกันว่า PERMA Model หรือแบบจำลองที่ทำให้เกิดความสุขใจในชีวิต ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในการใช้ชีวิตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
P: Positive Emotion อารมณ์เชิงบวก
ตามธรรมชาติของความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลง เข้ามาและจางหายไปได้ ทั้งความสุขและความทุกข์ ซึ่งอาจมีบางช่วงจังหวะชีวิตที่ความทุกข์เข้ามาถาโถม การยอมรับได้ว่า “ความรู้สึกทุกข์ใจเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต” นับเป็นต้นทางในการจัดการอารมณ์ โดยทักษะในการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสมขึ้นกับช่วงวัย บริบท และปัญหาที่แท้จริง บางสถานการณ์อาจสามารถจัดการอารมณ์และผ่านไปได้ไม่ยากนัก แต่บางสถานการณ์ก็ซับซ้อนและจำเป็นต้องให้เวลา
E: Engagement เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
การเป็นส่วนหนึ่งมีความหมายกับเราในเชิงรูปธรรม เช่น การได้เรียนรู้ การได้รับผิดชอบ การได้ลงมือทำ และในเชิงนามธรรม คือ ความรู้สึกมีคุณค่าและการยอมรับ การเป็นส่วนหนึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งกิจกรรมตามหน้าที่ (ต้องทำ) หรือกิจกรรมที่สนใจ (อยากทำ) ซึ่งระดับของการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแต่ละคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความถนัดและประสบการณ์ที่สะสมมา
R: Relationship สานสัมพันธภาพ
ความสัมพันธ์ทั้งเชิงบวก และเชิงลบ เป็นเส้นใยของสัมพันธภาพ ทำให้เราเชื่อมต่อกับผู้คนที่สะท้อนความรู้สึกต่อตนเอง สัมพันธภาพมีหลายระดับทั้งลึกซึ้ง ผิวเผิน การเริ่มเปิดใจให้กับสัมพันธภาพที่ปลอดภัย จะค่อยๆ เชื่อมเราเข้าสู่ความสัมพันธ์ของ “กลุ่มคน” ที่มีความทับซ้อน และโยงใยของความสัมพันธ์ที่หลากหลาย การได้ออกแรงมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจะสะสมเป็นความรู้สึกทั้งต่อตนเองและผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน
M: Meaning ชีวิตเปี่ยมความหมาย
เมื่อเกิดปรากฏการณ์บางอย่างในชีวิต เราจะมีการรับรู้ “perception” ต่อสิ่งนั้น และต่อตนเอง เมื่อเวลาผ่านไป การสะสมความเชื่อที่มีต่อตนเองค่อยๆ ชัดเจน จากความเชื่อที่กระจัดกระจายไปกับเรื่องต่างๆ เริ่มสะสมเป็นความเชื่อต่อตนเองอย่างลึกซึ้งถึงความหมายของการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน
A: Accomplishment พลังจากความสำเร็จ
ความสำเร็จของแต่ละคนก็มีความแตกต่าง เพราะแต่ละคนก็มีความคาดหวังและปรารถนาต่อการใช้ชีวิตที่ต่างกัน หากแต่ความสำเร็จมักต้องเริ่มจากการออกแรงกายแรงใจ ให้เวลา ผิดหวัง ก้าวผ่าน ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะเป็นความสำเร็จที่เล็กน้อย หรือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกสุข และพึงพอใจที่อย่างน้อยได้ลงมือทำ
เมื่อความสุขเป็นความสามารถ การค่อยๆ ใช้ชีวิต ให้เวลาตนเองตามบริบทที่เป็นจริง เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไม่เร่งรีบจนเครียดเกินไป อาจทำให้เราสามารถพบและรู้สึกมีความสุขได้ในทุกๆ วัน
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น