I Message ตัวช่วยสร้างการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว
การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว คือ ทักษะที่ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีความเข้าใจและมุ่งเน้นไปสู่การที่ผู้ปกครองต้องปรับการสื่อสารผ่านการควบคุมอารมณ์ตนเอง พบว่า ในหลายครอบครัวได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ลูกได้รับการดูแลและช่วยเหลือด้านจิตใจ แต่ก็มีไม่น้อยที่พ่อแม่ให้ความเห็นขัดแย้งกับ “ความพยายามในการสื่อสารเชิงบวก” ว่าทำให้ตัวเองจัดการความรู้สึกภายในไม่ได้ และสะสมเป็นความรู้สึกไม่ดีต่อตัวเองในฐานะพ่อแม่ ที่ไม่สามารถแสดงความรู้สึกต่อลูกของตนเองได้ กระทั่งหลายครั้งอารมณ์ที่สะสมอยู่ได้ระเบิดออกและทำให้การสื่อสารกลับแย่ลงไปกว่าที่คาดหวังไว้
แม้ว่า พ่อแม่ จะได้รับบทบาทในการประคับประคองดูแลลูก แต่อีกนัยสำคัญ พ่อแม่ควรได้รับสิทธิ์ในการดูแล ควบคุม ในฐานะผู้มีวุฒิภาวะมากกว่า สำคัญกว่านั้น พ่อแม่ควรได้รับการดูแลจิตใจ ให้สามารถระบายความรู้สึก บอกความคิดเห็นและความต้องการ ในฐานะ “มนุษย์คนหนึ่ง”
“เส้นแห่งการยอมรับ” คือสิ่งแรกที่อยากชวนพ่อแม่ทำความเข้าใจ
“เส้นแห่งการยอมรับ “ คือสิ่งที่พ่อแม่ถูกสะสมมาจากประสบการณ์ที่ตนถูกเลี้ยงดู ประสบการณ์ในชีวิต และความเชื่อต่อโลก
“เส้นแห่งการยอมรับ” คือ แนวเขตในการแสดงถึงพลังของพ่อแม่ที่จะควบคุมหรือสื่อสารในฐานะผู้ที่มีวุฒิภาวะมากกว่าด้วยความปรารถนาดี และรู้เท่าทันอารมณ์
ดังนั้น ในแต่ละคน แต่ละบ้าน จะมีระดับของเส้นแห่งการยอมรับที่ไม่เท่ากัน บางบ้านอนุญาตให้เด็กวัยรุ่นกลับดึกได้หากต้องทำสิ่งที่สำคัญและมีการบอกกล่าวไว้ล่วงหน้า ตรงกันข้ามกับบางบ้านที่วัยรุ่นต้องกลับบ้านให้ตรงเวลาแต่พ่อแม่จะสนับสนุนสิ่งอื่นเพื่อให้วัยรุ่นสามารถทำงานในเวลาอื่นแทนเวลากลางคืน
ทำให้การสื่อสารความเห็นและความปรารถนาดีที่มีต่อลูก กลับออกไปพร้อมคำที่ไม่น่ารื่นหู สีหน้าที่ไม่สมอารมณ์ และน้ำเสียงที่พ่อแม่เองก็ไม่ชอบ เพราะมาจากความเป็นห่วง กังวล และไม่พอใจ
ก่อนจะเรียนรู้รูปประโยคของ I Message อยากชวนพ่อแม่ทำความเข้าใจตนเอง เกี่ยวกับเส้นแห่งการยอมรับที่มีต่อพฤติกรรมต่างๆ ของลูก โดยเริ่มจากการ เขียนพฤติกรรมต่างๆ ของลูก ไว้ในช่องด้านบนเท่าที่จะนึกได้ จากนั้นทบทวนตนเองและนำพฤติกรรมต่างๆ มาใส่ในช่องด้านล่าง
“ส่วนบนของเส้นแห่งการยอมรับ” คือพฤติกรรมที่พ่อแม่ยอมรับได้ และพร้อมจะดูแลช่วยเหลือเมื่อลูกร้องขอ
“ส่วนล่างของเส้นแห่งการยอมรับ” คือพฤติกรรมที่พ่อแม่เป็นกังวล รู้สึกไม่พอใจ หรือได้รับผลกระทบ
ทบทวนตัวเองอีกครั้ง .. ใต้เส้นแห่งการยอมรับนั้น พฤตกรรมต่างๆ ส่งผลต่ออารมณ์อะไรของคุณ เช่น กังวล โกรธ เศร้า ??
เมื่อพ่อแม่สามารถรู้ทันความรู้สึก โปรดหาวิธีผ่อนคลายความรู้สึกก่อนเริ่มการสนทนากับวัยรุ่น เพราะสีหน้าแววตาของพ่อแม่ที่ดุดัน และไม่พอใจ เป็นที่น่าจดจำกว่าเนื้อหาที่ปรารถนาดีของพ่อแม่เสมอ
หลังจากสงบอารมณ์ลงได้ … เราจึงค่อยๆ สื่อสารผ่าน I Message เพื่อสื่อสารความรู้สึกของคุณ ในฐานะพ่อแม่ และมนุษย์คนหนึ่ง I-Message มี 3 องค์ประกอบ คือ พฤติกรรม อารมณ์ และผลกระทบ
- พฤติกรรม หมายถึง พฤติกรรมของเด็กที่คุณไม่ยอมรับ
- ผลกระทบ หมายถึง ผลกระทบที่ส่งผลต่อตัวคุณไม่ใช่ตัวเด็ก ทำให้เด็กรู้ว่าทำไมพฤติกรรมนั้นจึงเป็นปัญหา
- อารมณ์ หมายถึง ความรู้สึกของคุณที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของเด็ก
หรืออาจเลือกใช้การ บอกความต้องการเชิงพฤติกรรม อย่างตรงไปตรงมาด้วยท่าทีที่สงบ ลดอารมณ์ที่จะทำให้วัยรุ่นตีความว่ากำลังถูกสั่ง
เพราะอะไร เราจึงไม่ชวนให้ใช้ประโยคที่เป็น You Message :
เพราะวัยรุ่นมีความเชื่อมั่นปนกับความรู้สึกหวาดหวั่น เมื่อใดที่ถูกพูดถึง มักตีความว่าตนได้รับการพาดพิงหรือสอบสวน ทำให้แสดงออกต่อต้านอย่างอัตโนมัติ ทำให้เป้าหมายเชิงพฤติกรรมไม่เป็นไปอย่างที่ควรเป็น
เพราะอะไรจึงชวนใช้ประโยค I Message :
เพราะการสื่อสารแบบนี้มักไม่ทำให้เกิดการต่อต้าน เป็นการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาโดยเพียงแค่บอกความรู้สึกของคุณซึ่งเกิดขึ้นจริงกับพฤติกรรมที่เห็นและมีอยู่จริง รวมทั้งผลกระทบนั้น ก็น่าจะเกิดขึ้นจริงตามนั้น เด็กมีโอกาสคัดค้านได้ยากและวิธีนี้เป็นการบอกให้เด็กรับรู้ความคิดความรู้สึกของพ่อแม่ ส่วนการแก้ไขเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของวัยรุ่นเอง
เพราะอะไร การสื่อสารแบบ I Message จึงมีประสิทธิภาพ
การสื่อสารแบบ I Message คุณสื่อให้เด็กรับรู้ว่า คุณมั่นใจว่าเด็กจะเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคุณ และเปิดโอกาสให้เขาปรับตัวเอง คุณมั่นใจว่าเขาสามารถทำได้ นั่นเป็นการส่งเสริมความมั่นใจในตนเอง และความรู้สึกดีในตนเองของเด็กทางอ้อม และไม่ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอีกด้วย
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น
(ดาวน์โหลดใบทบทวนเส้นแห่งการยอมรับ ที่นี่)