“อภัย ปล่อยไป ปล่อยวาง” คำที่พูดง่าย แต่ทำได้ยาก

“อภัย ปล่อยไป ปล่อยวาง” คำที่พูดง่าย แต่ทำได้ยาก

เชื่อว่าหลายเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต เรามักได้ยินคำพูดจากคนรอบข้างที่หวังดี ต้องการให้เราผ่านเรื่องราวร้ายไปได้ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เราเป็นผู้ถูกกระทำให้เจ็บปวด ด้วยการครอบงำหรือความไม่ยุติธรรมต่างๆ โดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตเมื่อโดนละเมิดพื้นที่ สิทธิ์ หรือกฎบางอย่างจะส่งผลให้โกรธเคืองใจ 

งูเห่า ฉลาม ที่โดยมากไม่ได้มีความดุร้าย ซึ่งหลายครั้งเราจะได้ยินว่างูเห่าจะเลื้อยผ่านเราไปถ้าเราอยู่นิ่งเฉย ฉลามก็เช่นกัน มักไม่จู่โจมมนุษย์ ..เพียงผ่านมาและผ่านไป จนกว่าสองสิ่งมีชีวิตนี้จะเข้าใจว่ามนุษย์กำลังรุกล้ำรังหรือถิ่นของตน รวมทั้งท่าทีที่ดูอันตรายจากมนุษย์ พิษจากงูเห่า และฟันอันแหลมคมของฉลามจะเปลี่ยนเป็นอาวุธเข้าปกป้องตนเอง 

ในมนุษย์เราก็ไม่ต่างกันจะแสดงกำลังทางกายด้วยการเคลื่อนไหว แสดงกำลังทางใจด้วยความรู้สึกโกรธเมื่อรับรู้ได้ถึงการรุกล้ำพื้นที่ปลอดภัย หรือกฎบางอย่างในใจ เช่น ลูกวัยรุ่นไม่พอใจที่แม่เปิดประตูห้องส่วนตัวโดยไม่ส่งสัญญาณ หรือแม้กระทั่งหัวหน้าโกรธทีมงานที่มาสายเพราะมีความเชื่อว่า “สมาชิกที่มาทำงานตรงเวลาคือทีมงานที่ดี” 

ในขณะที่กำลังอยู่ในความโกรธ การคิดเชิงเหตุผลหรือเข้าใจเจตนาขออีกฝ่ายเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย แต่เมื่อพายุของความโกรธสงบลง ฟ้าสว่างสามารถมองเห็นช่องทางได้มากขึ้น เช่นเดียวกันกับความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นจะชัดเจนขึ้นเมื่ออารมณ์โกรธค่อยสงบลง รวมทั้งเมื่ออารมณ์โกรธสงบลงมีความเป็นไปได้ที่เราจะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เห็นความเป็นจริงอีกด้าน 

ยามที่ลมพายุแห่งความโกรธสงบลง..ลูกอาจเปิดโอกาสให้แม่ได้อธิบายว่าตนเปิดเข้ามาในห้องเพียงเพราะกำลังทำความสะอาดบ้านอย่างตั้งใจจนลืมที่จะเคาะประตูห้องก่อนที่จะเปิดเข้าไปพร้อมไม้กวาดในขณะที่ลูกกำลังคุยทางออนไลน์กับเพื่อนชายคนสนิท

ยามที่ลมพายุแห่งความโกรธสงบลง..หัวหน้าที่อยากให้ทีมประสบความสำเร็จเปิดโอกาสฟังอุปสรรคของลูกน้องที่ต้องเผชิญกับเหตุเสาไฟฟ้าในหมู่บ้านล้มขวางทาง ทั้งยังพยายามส่งข้อความแจ้งล่วงหน้าในขณะที่หัวหน้าทีมไม่ได้เปิดอ่านขณะกำลังหมกมุ่นกับการเตรียมหัวข้อการประชุมให้ดีที่สุด

แม้การฟังคำว่า “ให้อภัยเถอะ ปล่อยไปเถอะ ปล่อยวางเถอะ” จะเป็นเรื่องยากแต่ก็ยังมีความเป็นไปได้เมื่อเทียบกับการที่เรารู้สึกผิดกับตนเอง จากการที่ตนเองละเมิดกฎที่ตนเคยวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นกฎที่มาจากเจตนาที่มุ่งมั่น เช่น ฉันจะเลิกบุหรี่เมื่อมีลูกสาว หรือกฎที่ซ่อนอยู่ในความคิดอันลึกซึ้งต่อตนเอง อาทิ การที่มีความเชื่ออย่างมากว่าการทำงานผิดพลาดต่อหน้าลูกน้องเป็นเรื่องน่าอับอาย ซึ่งกฎที่ซ่อนอยู่ในความคิดต่อตนเองระดับลึกนั้นมีที่มาจากการสะสมประสบการณ์ในวัยเด็ก การเลี้ยงดู และการได้รับการตอบสองตามเงื่อนไขและทำให้มีความเชื่ออย่างนั้นโดยสนิทใจ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งประสบการณ์ด้านลบ อาทิ ถูกตักเตือนด้วยคำพูดรุนแรงเมื่อเราทำผิดต่อหน้าน้องชายว่า “เป็นพี่ต้องเป็นตัวอย่างให้กับน้อง การทำผิดพลาดซ้ำต่อหน้าน้อง มันคือการเป็นพี่ที่ไม่เอาไหน” หรืออาจเกิดจากประสบการณ์ด้านบวกซ้ำๆ อาทิ เราเป็นลูกที่ระมัดระวังการทำผิดเพราะพ่อแม่มักตำหนิพี่ชายรุนแรง จึงประคองพฤติกรรมตนเองให้อยู่ในร่องในรอยเพื่อต้องการคำชมกระทั่งไม่ได้มีโอกาสสนุกสนานและซุกซนตามวัย 

จนกลายเป็นกฎเกี่ยวกับความต้องการทำดีเป็นที่ยอมรับต่อหน้าผู้อื่นตลอดเวลา เมื่อเกิดข้อผิดพลาดอาจเกิดการกล่าวโทษตนเอง โดยไม่รู้ที่มาที่แท้จริงว่าในระดับจิตใจหรือประสบการณ์ส่วนลึก มีสิ่งใดกำลังชี้นำให้เรามีความเชื่อเหล่านั้นที่พร้อมจะโกรธและกล่าวโทษตนเองได้เสมอ

ดังนั้นแล้ว การให้อภัยตนเอง จึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งไปกว่าการให้อภัยคนอื่น เพราะเราอาจไม่มีโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นกฎและเงื่อนไขที่กำลังรบกวนจิตใจ แต่การให้อภัยตนเองก็ไม่ได้น่าหมดหวังขนาดนั้น 

การให้อภัยตนเองจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกทักษะการรู้เท่าทันตนเองถึงความคิด ความรู้สึก ร่างกาย และพฤติกรรม ทั้งในช่วงที่มีอารมณ์โกรธ กล่าวโทษตนเอง และในช่วงที่อารมณ์สงบ ทั้งยังต้องเพิ่มความพยายามในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบความคิดของตนเอง เพื่อเข้าใจกฎที่ซ่อนอยู่ภายในอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบ 

เพราะความพยายามที่จะให้อภัยตนเอง อาจมาจากกฎที่ว่า “ให้อภัยตนเองได้ จะทำให้ใจพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นกฎที่อาจทำให้เรามีทุกข์ใจในปัจจุบันก็เป็นได้

การให้อภัยตนเอง เป็นแบบเรียนตลอดชีวิต ก้าวไปข้างหน้าได้ ก็ถอยหลังบ้าง กระทบซ้ายกระทบขวาจนเกิดความเข้าใจ โกรธเป็น สงบได้ การให้อภัยตนเองจะค่อยๆ เป็นทักษะประจำตัวที่แข็งแรงขึ้น

 

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น