Move on อย่างไร ให้กลับมาเป็นคนสดใสอีกครั้ง

ก่อนจะพูดเรื่องวิธีการ Move on อยากจะชวนทำความเข้าใจสมองวัยรุ่นที่มีศักยภาพด้านการเรียนรู้และการจดจำ แต่มีข้อจำกัดเล็กๆ เรื่องการยับยั้งชั่งใจ นอกจากจะพบได้ว่าวัยรุ่นมักมีความคึกคะนองเป็นตัวแทนความสดใส ยังพบได้ว่ารักลึกซึ้ง รวดเร็ว และเน้นอารมณ์คือธรรมชาติตามวัย เพราะสมองส่วนอารมณ์ตอบสนองให้ตกหลุมรักใครได้ง่ายโดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลมากนัก

นอกจากนี้แล้วพัฒนาการทางสังคมตามวัยยังชี้ให้เห็นว่า วัยรุ่นให้ความคุณค่ากับความสัมพันธ์อย่างมากทั้งในรูปแบบเพื่อน เพื่อนสนิท และคนรัก รวมทั้งมีความต้องการได้รับการยอมรับทางสังคม ดังนั้นการมีคนรักนอกจากเป็นที่รักของคนใดคนหนึ่งแล้ว ยังเป็นเสมือนการได้รับการยอมรับทางสังคมอีกอย่างหนึ่ง การมีความรัก การได้รักใครสักคน มันช่างเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและสวยงามในความเป็นวัยรุ่น

ดังนั้นความผิดหวังในรัก คงไม่ต่างกับโลกทั้งโลกแทบพังทลาย วัยรุ่นหลายคนที่ผิดหวังทั้งในแบบที่เค้าไม่รัก ผิดใจกัน หรือเลิกรักกัน จึงประสบกับความเศร้า โทษตัวเอง โทษคนรัก อาจส่งผลต่อการขาดสมาธิเพราะความคิดและจิตใจวนเวียนอยู่กับเรื่องราวน่าเสียใจ หลายคนเก็บตัวเพราะคิดหนักไม่อยากไปเผชิญหน้ากับคนรักเก่า และภาพความรักครั้งเก่า

“ความไม่แน่นอนและการสูญเสีย คือ สิ่งที่เกิดคือกับทุกคน ทุกความรู้สึก” แม้การสูญเสียเป็นสิ่งธรรมดา แต่ไม่ง่ายเลยที่ผู้ได้รับความสูญเสียจะเพียงปลอบประโลมตนเองและผ่านเรื่องราวปวดร้าวนั้นไป การเรียนรู้ขั้นของการก้าวผ่านความเจ็บปวดและการสูญเสียคือ การพยายามเข้าใจความธรรมดาของ “ความไม่แน่นอน”

5 Stages of grief หรือระยะของการปรับตัวเมื่อเกิดความสูญเสียหรือเจอเรื่องผิดหวัง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ Dr.Elizabeth Kubler-Ross นักจิตวิทยาชาวสวิสเป็นผู้ไล่เรียงระยะความนึกคิดและความรู้สึกของบุคคลเมื่อเจอกับความรู้สึกผิดหวังและการสูญเสีย ไว้ตั้งแต่ปี 1969 โดย 5 Stages of grief หรือระยะของการปรับตัวเมื่อเกิดความสูญเสีย แบ่งออกได้ ดังนี้ 1. Denial ปฏิเสธความจริง ระยะแรกที่เจอกับความผิดหวัง โดยส่วนมากเราจะเกิดอาการช็อก และปฏิเสธความผิดหวังหรือการสูญเสียที่เกิดขึ้น ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้น เป็นช่วงที่เสมือนไร้ความคิด ไร้ความรู้สึก คล้ายคนสับสนมึนงง

2. Anger โกรธ พยายามโทษสิ่งต่าง ๆ เมื่อผ่านมาระยะหนึ่งคนเราจะเริ่มรู้สึกโกรธ บ้างโทษโชคชะตา โทษคนอื่นว่าเป็นต้นเหตุของการสูญเสียหรือความผิดหวังที่เกิดขึ้น วัยรุ่นบางคนแสดงความโกรธออกสู่ภายนอก แต่บางคนกลับเก็บกดไว้ภายในใจ 3. Bargaining ต่อรองกับตัวเอง ระยะนี้คนเรามักจะอยากย้อนเวลาไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด เป็นระยะที่คิดว่าตัวเองจะยอมทุกอย่างเพื่อให้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงฝันร้าย อยากทำทุกอย่างที่เราไม่ต้องสูญเสียใครไป และมักจะมีประโยคว่า ถ้า…ฉันคง… เกิดขึ้นในหัวบ่อย ๆ เป็นขั้นที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ใช้พลังงานกับความคิดค่อนข้างมาก อาจส่งผลต่อการขาดสมาธิ 4. Depression ตกอยู่ในความเศร้า เมื่อตระหนักได้แล้วว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง ความผิดพลาดนั้น การสูญเสียนั้น ความผิดหวังนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถแก้ไขได้เลย คนเราจะตกอยู่ในความเศร้าซึม รู้สึกว่างเปล่า และมักจะมองโลกในแง่ลบ โทษตนเอง และมักพบว่าในขั้นนี้วัยรุ่นจะเก็บตัว ลดการปฏิสัมพันธ์และกิจกรรมทางสังคม 5. Acceptance ระยะทำใจ เป็นระยะที่ยอมรับความจริงได้แล้ว และพร้อมจะเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น อารมณ์ส่วนใหญ่ค่อยๆ สงบลง ปรับเข้าสู่การค่อยๆ คิดไตร่ตรองอย่างเป็นเหตุเป็นผล

Move on หัวใจให้ค่อยๆ กลับมาสดใสเป็นใจดวงเดิม

1.ร้องไห้คือผลผลิตของความสูญเสีย ไม่ใช้ความอ่อนแอ เมื่อมนุษย์รู้สึก ร่างกายย่อมมีภาษาสากลในการตอบสนองอย่างอัตโนมัติ ร้องไห้คือภาษาของความเสียใจ ซึ่งเป็นสิ่งมนุษย์ทั่วไปเข้าใจกัน แต่ในห้วงของความสูญเสีย อาจถูกตีความได้ว่า “ผู้ที่ร้องไห้คือผู้ที่อ่อนแอ” เพื่อให้ภาษาของร่างกายได้ปลดปล่อย โปรดอนุญาตให้ตัวเองได้ร้องไห้

2.ให้เวลากับความรู้สึกและความสูญเสีย ความรู้สึกสูญเสียแม้มีระยะให้ทำความเข้าใจแต่ก็ไม่อาจวัดได้ให้แต่ละคนเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับเรื่องราวและมุมมองต่อความสูญเสียนั้น ยิ่งลึกซึ้งมากอาจยิ่งส่งผลต่อความรู้สึกสูญได้มากและย่อมใช้เวลาในการจะก้าวผ่านแต่ละขั้นของความรู้สึก

3.เรื่องความสัมพันธ์เป็นของคนสองคน หลายครั้งของการจบความสัมพันธ์ การพยายามตามหาว่า “ใครถูก ใครผิด” มักเกิดขึ้น เหมือนจะช่วยให้เรื่องราวที่จบลงมีตัวละครที่ชัดเจน แต่ตรงกันข้ามกับสร้างและสะสมความรู้สึกบอบช้ำไว้ในความทรงจำ โดยที่มองข้ามไปว่าการเริ่มความสัมพันธ์ย่อมเกิดจากคนสองคน ดังนั้นแล้วการจบความสัมพันธ์ย่อมเกิดจากคนสองคนอาจมีทั้งส่วนถูกบ้างผิดบ้างปะปนกันไปในคนทั้งสองคน เพื่อก้าวจากความเศร้าความโกรธไปสู่การให้อภัยทั้งตนเองและคนอื่นได้

4.พยายามมากขึ้นที่จะทำกิจวัตรประจำวัน ในช่วงของการก้าวผ่านจะมีหลายความคิดและหลายความรู้สึกปะปนวนเข้ามา ส่งผลให้กับเจ้าของความคิดมีอารมณ์โกรธ เศร้า ขาดสมาธิ ขาดสังคม และไร้พลัง หากปล่อยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยขาดการควบคุม สิ่งอื่นในชีวิตอาจได้รับผลกระทบ อาทิ ขาดเรียน ขาดส่งงาน มีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน แต่การพยายามทำสิ่งต่างๆให้เหมือนเดิมคงไม่ง่ายนัก เพราะใช้พลังงานไปกับความคิดหนักและความรู้สึกแย่ๆ การพยายามมักขึ้นอีกเล็กน้อยและค่อยๆ ประคองตนเองให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้มีส่วนช่วยให้ก้าวผ่านขั้นของความเสียใจได้มากทีเดียว

5.ค่อยๆ พาตัวเองออกไปเจอโลกใบเดิม และมองโลกตามความเป็นจริง สิ่งที่เรามักหลงลืมไปในช่วงที่มีความสัมพันธ์ คือความทรงจำในการใช้ชีวิตลำพัง ความสนุกในการเรียน รอยยิ้มและการทะเลาะกันบ้างกับกลุ่มเพื่อน การดื้อเงียบเมื่อครูเตือนให้แต่งตัวถูกระเบียบ โลกใบเดิมเหล่านี้อาจยังคงหมุนเหมือนเดิมและรอให้เรากลับไป เพียงกล้าที่จะค่อยๆ ก้าวออกไปจากความรู้สึกสูญเสีย และระลึกรู้ทันความคิดและความรู้สึกในปัจจุบันตามความเป็นจริง

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น