จะเท่าทันได้อย่างไรว่ากำลังรัก หรือหลงใหลในตัวเอง
สองคำนี้มีความหมายคล้ายคลึงกัน หรือแม้แต่การแสดงออกบางอย่างก็ดูไม่แตกต่างกัน อาทิ การชื่นชมตนเอง การแสดงความพอใจในตนเอง แต่หากเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งสองอย่างนี้มีสิ่งซ่อนเร้นที่แตกต่างกัน
รักตัวเอง เป็นนิยามที่เป็นกระแสนิยมที่มีพร้อมกับสิทธิ์ในการมีอยู่และใช้ชีวิตของผู้คนในวัย Gen Z ที่ก้าวข้ามความเชื่อเรื่องความรักในพวกพ้องหรือสถาบันต่างๆ ในชีวิต ซึ่งเป็นค่านิยมหลักของคนในยุคก่อนหน้าเพราะความรักในพวกพ้องและการพึ่งพาอาศัยกันเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของชีวิต การทำงาน หรือแม้กระทั่งความรู้สึกปลอดภัย
ผู้คนในยุคหลังเชื่อว่าความรักตนเองจะส่งผลให้เรารู้สึกดีและสามารถพัฒนาตนเองไปสู่สิ่งที่ต้องการได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยจากปัจจัยของคนอื่นหากไม่จำเป็น แต่ในส่วนลึกก็กลับกังวลใจเพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังรู้สึกและทำอยู่นั้นเรียกว่า “รักตัวเอง” หรือ “หลงตัวเอง” เพราะสุดท้ายเราคงไม่อยากพัฒนาตนเองอย่างพึงพอใจ แต่อาจทำให้สูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้างจากการเป็นคน “หลงตัวเอง”
รักตัวเอง การรักตัวเอง หมายถึง รู้จักภูมิใจในตัวเอง สามารถยอมรับข้อผิดพลาดและความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง จัดการความรู้สึกให้อยู่ในระดับสมดุลเพื่อการพัฒนาตนเองไปสู่สิ่งที่ตนเองคาดหวัง อีกทั้งยังสามารถส่งผ่านความรักในตนเองนี้เป็นความปรารถนาดีกับผู้คนรอบข้าง จากความปรารถนาให้เขาเหล่านั้นได้พึงพอใจในตนเอง และมีความสุขกับการมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในฐานะ “มนุษย์เท่ากัน”
เคารพตนเองและผู้อื่นอย่างยุติธรรม พึ่งพาอาศัยกัน เข้าใจความแตกต่างและข้อจำกัดระหว่างตนเองและผู้คน และที่สำคัญไม่ใช้ความรู้สึกรักในการหาประโยชน์ สร้างเงื่อนไข หรือใช้เพื่อทำลายตัวตนของผู้คนที่ทำให้เราผิดหวัง
ในขณะ “การหลงตัวเอง” ก็เป็นความรู้สึกชื่นชมในตนเอง พอใจและภูมิใจ แต่มีเงื่อนไขทางความคิดที่สุดโต่งเชิงเปรียบเทียบว่า “ตนเองมีค่าหรือมีความพิเศษมากกว่าคนอื่น สิ่งที่ตนได้รับมาจากความสามารถพิเศษหรือการยอมรับอย่างไร้เงื่อนไข
“ขอให้เป็นฉันเขาก็จะให้”
“ขอเพียงเป็นฉันเขาก็จะรัก”
“สิ่งดีเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับใครนอกจากฉัน”
คำพูดทั้งหมดดูคล้ายว่าผู้พูดเกิดความรู้สึกดีกับตนเอง แต่ความรู้สึกดีนั้นกลับดูฉาบฉวยและไม่มั่นคง เพราะในเหตุการณ์ตรงกันข้าม อาทิ เมื่อเกิดความผิดหวัง ผิดพลาด ผู้ที่หลงตัวเองจะไม่สามารถยอมรับกับสภาวะที่เกิดขึ้นได้และมักเคยชินที่จะใช้การกล่าวโทษผู้อื่นและโลก ซึ่งแสดงถึงความทุกข์ใจและไม่ได้แสดงถึงความสุขและพึงพอใจภายในอย่างลึกซึ้ง ส่งผลต่อการขาดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้คนเพราะคิดเสมออย่างอัตโนมัติว่า “เขาพิเศษ” “เราไม่เท่ากัน” อาจก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์และปัญหาสุขภาพใจ
รักตัวเอง และหลงตัวเอง ไม่ใช่การตีตราถึงบุคลิกหรือลักษณะนิสัย
แต่รักตัวเองและหลงตัวเอง อาจเป็นสภาวะทางจิตใจในชั่วขณะนั้น
เช่น การพอใจในตนเองอย่างมากหลังได้เหรียญทองจากการซ้อมกีฬามาอย่างหนัก อาจทำให้เรารู้สึกรักและหลงใหลในตนเองชั่วขณะ โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับและชื่นชม
การตระหนักในความแตกต่างระหว่างคน การเห็นคุณค่าของมนุษย์ด้วยความใจกว้าง การจัดการอารมณ์เมื่อเกิดความผิดพลาดและเมื่อประสบความสำเร็จ และการสื่อสารสัมพันธ์อย่างเห็นอกเห็นใจ จะมีส่วนสำคัญให้ความรักและปรารถนาดีต่อตนเองไม่กลายไปสู่การหลงใหลในตนเองและลืมตัว
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น