ประเด็นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์เป็นประเด็นสำคัญที่ยังเป็นข้อถกเถียงในทางจริยธรรมว่า ทำได้หรือไม่ (Ethicaldilemma)แนวความคิดเรื่องการทำแท้งมีมากมายหลายทฤษฎี ตั้งแต่ไม่ยอมเลยไม่ว่าในกรณีใดๆทั้งสิ้นไปจนถึงอีกสุดขั้วหนึ่งคือทำได้เมื่อผู้หญิงต้องการ โดยที่มีแนวความคิดอีกมากมายหลายสำนักที่อยู่ระหว่างทั้งสองขั้วนี้ อย่างไรก็ตามพอจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
กลุ่มที่สนับสนุนให้ผู้หญิงเลือกเองหรือ Pro-choice
กลุ่มที่สนับสนุนสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อนหรือ Pro-life
- กลุ่ม Pro-life เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านการยุติการตั้งครรภ์(ทำแท้ง) เนื่องจากเห็นว่าชีวิตของตัวอ่อนมีคุณค่าเทียบเท่ากับเป็นบุคคลอีกผู้หนึ่งหรือที่เรียกกันว่ามีสถานะเป็นบุคคลดังนั้นจึงมีสิทธิที่จะมีชีวิต (right to life) และใครจะละเมิดมิได้องค์กรที่สนับสนุนแนวคิด Pro-life อย่างเข้มแข็งชัดเจนที่สุดคือ คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกมีแนวความคิดว่า ชีวิตที่เกิดมาเป็นไปตามแผนการของพระเจ้าและมีความศักดิ์สิทธิ์(sanctity of life)มนุษย์ไม่อาจไปละเมิดได้ ในปี ค.ศ.1968 สมเด็จพระสันตปาปาพอลที่๖ ได้ออกสาส์นพระสันตปาปา (papal encyclical) ชื่อ Humanae Vitae ซึ่งเป็นสาส์นที่มีความสำคัญมาก แสดงจุดยืนทางปรัชญาอย่างชัดเจนว่า ห้ามยุติการตั้งครรภ์อย่างเด็ดขาด และยังห้ามเรื่องการคุมกำเนิดทุกวิธี ยกเว้น การงดร่วมเพศบางเวลา(periodic abstinence) เนื่องจากคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิกมีผู้นับถือมากที่สุดในโลก จุดยืนของทางสำนักวาติกันในเรื่องนี้ จึงมีผลกระทบอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคู่สมรสที่ต้องการคุมกำเนิดหรือยุติการตั้งครรภ์ ศาสนาอื่นๆก็เช่นเดียวกันมีแนวคิด ที่จะสนับสนุนการมีชีวิตของทารกแทบทั้งหมด อาจมีข้อแตกต่างปลีกย่อยอยู่บ้าง ในศาสนาพุทธถือว่า การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาปละเมิดศีลข้อแรกของศีลห้า แนวความคิดเรื่องPro-life จึงมีความเข้มข้นมากในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาที่นับถือคริสตศาสนาโรมันคาทอลิกและในกลุ่มประเทศอาหรับและเอเชียที่นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ
- กลุ่ม Pro-choice มีแนวคิดว่าผู้หญิงมีสิทธิในร่างกายตัวเอง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (basic human right) ดังนั้น ผู้หญิงมีสิทธิที่จะกำหนดว่าจะให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อหรือสิ้นสุดลงก็ได้ การบังคับให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ต่อโดยฝืนความต้องการ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แนวความคิดนี้เริ่มพัฒนามาพร้อมๆกับแนวคิดเรื่องสุขภาพมนุษย์มีความสัมพันธ์ กับสิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมในสังคม การขู่เข็ญบังคับ (coercion) การเลือกปฏิบัติ(doublestandard,prejudice)และการไม่ให้โอกาสเข้าถึงบริการทางแพทย์ถือว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีผลกระทบทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งแนวความคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นแท้จริงมีอยู่ในแทบทุกศาสนาซึ่งมากน้อยแล้วแต่จะมีการตีความ แต่เห็นชัดเป็นรูปธรรมภายหลังการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศสและคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights)ขององค์การสหประชาชาติ พ.ศ. 2491 กลุ่ม Pro-choice เห็นว่าตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ไม่น่าจะมีสภาวะเป็นบุคคล เพราะยังไม่มีเงื่อนไขของความเป็นบุคคลอย่างครบถ้วน ตัวอย่าง เช่น ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระนอกครรภ์มารดา ดังนั้นการยุติการตั้งครรภ์จึงไม่ถือเป็นการฆาตกรรม ตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ยังไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเรียกร้องหรือลบล้างสิทธิของหญิงที่ตั้งครรภ์ได้ แต่ถึงแม้จะถือว่าตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์เป็นบุคคลสมบูรณ์ก็ยังไม่มีสิทธิเทียบเท่าสิทธิของผู้หญิงที่เป็นเจ้าของร่างกาย