Safety Plan ตัวช่วยให้เกิดความรู้ตัวและป้องกันการฆ่าตัวตาย
เชื่อว่าหลายคนคงห่างประสบการณ์ในการเดินทางด้วยสายการบินมานานพอควร แต่ถ้าย้อนนึกกลับไปสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์และทำให้เราจดจำได้เกี่ยวกับการเดินทางด้วยสายการบิน คือ การอธิบายขั้นตอนของมาตรการความปลอดภัยในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยท่าทาง น้ำเสียง และการมีคู่มือเป็นภาพประกอบพร้อมกับบอกลำดับที่ชัดเจน เดินทางกี่ครั้ง ไม่ว่าจะเส้นทางไหน สายการบินไหน ก็จะมีสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบทุกครั้ง จนใครหลายคนจดจำท่าทาง การพูด และขั้นตอนของความปลอดภัยได้อย่างแม่นยำ
สิ่งที่น่าสังเกตคือ “จำได้ มีไม่กี่ขั้นตอน ทำไมต้องพูดซ้ำและทำคู่มืออย่างละเอียด”
สายการบินไม่เชื่อว่าเรามีความสามารถด้านการจดจำ หรือ…
อาจเป็นเพราะ ในยามวิกฤตที่มนุษย์อยู่สถานการณ์คับขัน อารมณ์เชิงลบพุ่งทะยาน โหมดความคิดและการตัดสินใจมักเป็นไปอย่างควบคุมไม่ได้ เสมือนเครื่องบินที่บังคับทิศทางทางยากเมื่อต้องเจอพายุในขณะที่เครื่องยนต์ไม่พร้อม
เนื่องจากธรรมชาติของสมองจะโต้ตอบกับแรงกระตุ้นที่ส่งผลต่ออารมณ์เชิงลบอย่างหุนหัน ถ้ามีความรู้สึกโกรธอย่างมากผู้นั้นก็อาจสู้อย่างสุดใจ แต่ถ้าหากรู้สึกเศร้า หมดหวัง ผู้นั้นก็หลีกหนีอย่างสุดทาง และมีแนวโน้มไปสู่การฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเองได้
Safety Plan เป็นเสมือนเครื่องมือเเพื่อสร้างสภาวะรู้ทันอารมณ์ ความคิด และมีแผนเชิงพฤติกรรมเพื่อช่วยให้ผู้นั้นสามารถควบคุมตนเองและปลอดภัย ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน
โดยก่อนเริ่มต้นสร้าง Safety Plan ต้องแน่ใจก่อนว่า บุคคลผู้นั้นมีความเชื่อว่า ชีวิตยังมีความหวัง ปลายทางที่เหลือยังมีคุณค่า และหาเหตุผลร่วมกันในการจะมีชีวิตต่อไป เสมือนเครื่องบินที่เครื่องยนต์ขัดข้องแต่ยังเห็นหนทางในการนำเครื่องค่อยๆ ลงจอดในที่อื่นที่ปลอดภัยแม้อาจไม่ใช่สนามบิน
จากนั้นทบทวนสติรู้คิดว่าตอนที่กำลังจะเริ่มลงมือทำ Safety Plan ว่าผู้นั้นพอจะมีตรรกะ เหตุผล มากกว่าสภาวะของอารมณ์จึงจะเป็นประโยชน์ในการลำดับแผนดังกล่าวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
หลังจากทบทวนประเด็นดังกล่าวแล้ว ค่อยๆลำดับการเขียนสิ่งต่างๆลงใน Safety Planดังนี้
1.เขียนสัญญาณบอกเหตุ ที่ทำให้คะเนไปได้ว่ากำลังจะเกิดเหตุฉุกเฉินที่ควบคุมได้ยากตามมา (Warning Signs of Crisis) ซึ่งอาจออกมาในรูปแบบของความคิด ภาพ อารมณ์ สถานการณ์ หรือพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นสิ่งนำก่อนเกิดความคิดฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตนเอง โดยในส่วนนี้ต้องอาศัยความพยายามในการทบทวนโดยอิงจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต อย่างน้อย 3 ข้อ
2.เขียนขั้นตอนที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เพื่อหยุดความคิดวกวนเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง โดยอิงถึงกิจกรรมที่เคยให้ประโยชน์ในรูปแบบการผ่อนคลาย หรือกิจกรรมที่สามารถการเบี่ยงเบนตนเองไปทำสิ่งอื่น เพื่อพักความคิดที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ควบคุมไม่ได้ อย่างน้อย 3 กิจกรรม
3.เขียนชื่อบุคคลที่เชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือให้ตัวเราหยุดคิด หรือหลุดพ้นจากวงจรความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง โดยระบุถึง 3 บุคคล ตามรายละเอียดดังนี้
เขาผู้นั้นเป็นใคร…
มีความสัมพันธ์กับเราอย่างไร…
เราสามารถติดต่อเขาด้วยวิธีหรือช่องทางไหน…
4.เขียนชื่อบุคคลที่สามารถทำให้เรารู้สึกปลอดภัย แม้เขาไม่อาจจะช่วยให้เราหยุดคิดได้ หากแต่การได้มีเขาเหล่านั้นอยู่ใกล้ๆ จะช่วยให้เรารู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยจากการทำร้ายตนเอง โดยระบุถึง 3 บุคคล ตามรายละเอียดดังนี้
เขาผู้นั้นเป็นใคร…
มีความสัมพันธ์กับเราอย่างไร…
เราสามารถติดต่อเขาด้วยวิธีหรือช่องทางไหน…
5.หมายเลขโทรศัพท์สำคัญที่ช่วยเหลือเราได้ในสถานการณ์นี้ อาจเป็นคนใกล้ชิดที่ไว้ใจหรือวิชาชีพที่คิดว่าสามารถช่วยเหลือได้ หากเป็นนักเรียนก็อาจเขียนเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนหรือครูที่ไว้ใจ หากเป็นนักศึกษาก็อาจบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ของศูนย์ให้การช่วยเหลือด้านจิตใจของแต่ละมหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไปก็อาจเป็นคนสนิทที่ไว้ใจหรือหมายเลขสายด่วนด้านจิตใจ อาทิ
สายด่วนคลายทุกข์ สมาคมสะมาริตันส์ เปิดให้บริการฟรีทุกวัน ตั้งแต่ 12.00 น. ถึง 22.00 น.ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-713-6793 (ภาษาไทย) หรือ 02-713-6791 (English)
หรือ เพจต่างๆ เช่น Ministry of Love อาสาสมัครมิตรภาพเพื่อยุติความรุนแรงและการฆ่าตัวตาย เป็นเพื่อน ที่จะรับฟังคุณอย่างตั้งใจและใส่ใจความรู้สึกลึกๆของคุณ โดยไม่ตัดสิน ทุกวันเวลา เวลา 10.00-12.00 น
โดยรูปแบบการจดบันทึก Safety Plan ขึ้นอยู่กับความถนัดและสะดวกใจของแต่ละคน แต่ใจความสำคัญคือการหยิบจับ Safety Plan ขึ้นมาใช้ในยามฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที
แม้ Safety Plan จะเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับว่าช่วยให้…เกิดความรู้ตัวและป้องกันการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง แต่เครื่องมือนี้ต้องได้รับการทำความเข้าใจ และความร่วมมืออันดีกับเจ้าของอารมณ์ผู้นั้นว่าการมีชีวิตอยู่คือคุณค่าและยังมีความหวังในการผ่านเรื่องนี้ไป
อีกทั้งในบางสถานการณ์อารมณ์เชิงลบที่ถาโถมอย่างมาก หรืออาการทางจิตใจหลายอาการที่อาจหยุดหรือยับยั้งความคิดฆ่าตัวตายได้ยาก อาจต้องเตรียมการช่วยเหลืออื่น โดยเฉพาะการให้โอกาสตนเองในการได้รับการดูแลใกล้ชิดจากญาติ หรือเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น