Teen Self Care
วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการพร้อมกันในหลายด้าน ทั้งร่างกาย การเรียนรู้ และสังคม เป็นช่วงวัยที่มีความเฉพาะตัวต่างจากวัยอื่นๆ พลังงานที่มาก ความคิดสร้างสรรค์ ความเห็นที่แตกต่าง การมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ การสร้างปฏิสัมพันธ์ทั้งกับเพื่อนและคนรัก ความต้องการได้รับการยอมรับ ความสนใจในอาชีพและอนาคต การให้ความสำคัญเรื่องสิทธิ์และมุ่งเน้นเรื่องการเคารพพื้นที่ส่วนบุคคล ล้วนสะสมมาเป็น ความเชื่อที่มีต่อตนเอง หรือ“อัตลักษณ์ในตน (Self-Identity)”
ด้วยความเฉพาะนี้ทำให้วัยรุ่นพร้อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจโลกใบนี้ หากแต่มีวัยรุ่นไม่น้อยที่ถูกรบกวนจากปัจจัยภายในตนเอง อาทิ ระดับความสามารถ การจัดการอารมณ์ และทักษะในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม รวมทั้งอุปสรรคภายนอกที่บริบท การเลี้ยงดู สังคม และการสื่อสาร ไม่เอื้ออำนวยให้ความเฉพาะของวัยรุ่นนี้ได้ขับเคลื่อนไปอย่างที่วัยรุ่นควรจะเป็น ก่อเกิดเป็นภาวะอารมณ์ และบุคลิกภาพ
“การเป็นอย่างที่ตัวเองอยากเป็น” คือเรื่องที่ดี แต่จะเป็นตัวเองอย่างไร ให้ไปถึงสิ่งที่อยากเป็นและสามารถดูแลตัวเองไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นขุมพลังขับเคลื่อนและเพื่อเป็นปราการป้องกันความทุกข์ใจ และความรู้สึกไม่ดีต่อตนเอง
Self-Care คือ การดูแลตนเองแบบองค์รวม ซึ่งในแต่ละช่วงวัยก็ล้วนต้องดูแลตัวเอง แต่จะแตกต่างกันออกไปตามความเฉพาะ อาทิ
Self-Care วัยทารก มักไม่พูดถึง เหตุเพราะวัยทารกยังเป็นวัยที่ขาดความสามารถในการดูแล “ตัวเอง” วัยทารกจึงเป็นวัยที่ต้องได้รับการ Take-care จากผู้ใหญ่เพื่อการมีชีวิตรอด
Self-Care วัยประถม เป็นวัยที่เริ่มมีความสามารถในการจดจำ ทำตามแบบ และตอบสนองได้ดีด้วยการชมเชย Self-Care ในวัยนี้จึงเริ่มด้วยการฝึกให้เด็กๆ ดูแลตนเองอย่างง่าย และเป็นรูปธรรม เช่น การอาบน้ำ ฝึกแต่งตัว และเก็บของเข้าที่ โดยมีจุดมุ่งหมายกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วมในการลงมือทำ และเรียนรู้ขั้นตอนมากกว่าความถูกต้องสวยงามแบบไร้ที่ติ
Self-Care วัยผู้ใหญ่ เป็นวัยที่ประกอบด้วยความรับผิดชอบด้วยหลายบทบาท และหลายความคาดหวัง หลายคนรับบทเป็นทั้งพ่อแม่ เป็นทั้งลูก เป็นพนักงานดีเด่น เป็นลูกหนี้ เป็นเพื่อน ทำให้ Self-Care ในวัยผู้ใหญ่เน้นไปที่การสร้างสมดุลให้ตัวเองสามารถจัดการกับแต่ละบทบาทได้อย่างลงตัว และไม่ลืมที่จะดูแลบทบาท “ตัวเอง” ด้วย
Self-Care วัยชรา เป็นวัยที่มุ่งเน้นไปสู่การดูแลสุขภาวะตามความเสื่อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นของร่างกาย ในขณะที่ความรู้สึกถึงความสามารถและตัวตนเดิมยังคงอยู่ ดังนั้นการค่อยๆ ประนีประนอมความรู้สึก ยอมรับในร่างกายที่เสื่อมถอย เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการดูแลร่างกาย
ทั้งหมดที่ชวนให้เห็นเรื่อง Self-Care ของแต่ละช่วงวัย มีจุดมุ่งหมายเพื่อชวนเข้าใจเรื่อง “ธรรมดา” ของพัฒนาการตามวัยต่างๆ Self-Care ไม่ได้มุ่งเน้นกระทำกับผู้ที่ถูกตีความว่าอ่อนแอ ดูแลตัวเองไม่ดี ตรงกันข้าม Self-Care กลับเป็นฐานในการดูแลตนเองตามวัยให้เหมาะสม เพื่อส่งผลทั้งในเชิงพัฒนาและป้องกันผลกระทบที่จะตามมาทั้งด้านสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ
แล้ว Self-Care ในวัยรุ่นล่ะ มีแนวคิดยังไง เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของวัยตามที่ได้เกริ่นไว้ในข้างต้น ?
ก่อนอื่นชวนให้วัยรุ่น รู้จักกับตัวอักษร 4 ตัว ดังนี้ B A R S (เพื่อการจดจำ ชวนคิดภาพตาม บาร์ที่ใช้ยึดเกาะเพื่อประคองให้เกิดความสมดุล)
แม้จะมีหมวดหมู่ของการดูแลตัวเองอย่างชัดเจน แต่การนำหลักคิดไปใช้ต้องให้ความสำคัญในการสร้างสมดุลตามบริบทและช่วงเวลา เช่น ในช่วงของการสอบ สัดส่วนของ A อาจมากกว่าส่วนอื่นๆ สัดส่วนของ S อาจประกอบไปด้วยเรื่องราวทั่วไปและการพูดคุยเพื่อประโยชน์ในการสอบ สัดส่วนของ R ที่จะน้อยลงและระมัดระวังอย่างมากที่จะควบคุมการผ่อนคลายไม่ได้เนื่องจากความต้องการจัดการความเครียดระดับสูงในช่วงของการสอบ
ส่วนในช่วงปิดเทอม R คงเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่วัยรุ่นต้องการร้องของให้กับตนเอง แต่ก็ควรระมัดระวังในการรักษาสัดส่วนอื่นไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินไป เพราะ (B)ร่างกายของวัยรุ่นไม่ได้หยุดเติบโตในช่วงปิดเทอม (S)ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ยังสื่อสารพูดคุยอย่างสม่ำเสมอย่อมทำให้เชื่อมต่อความสัมพันธ์ได้ในวันที่เปิดเทอม (A)การทบทวนการเรียนบ้างทำให้เรื่องยากอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในการเรียนของเทอมต่อไป
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น