ขอบคุณตัวเองจากข้างใน โดยไม่รอขอจากใคร
การได้รับคำขอบคุณจากผู้อื่นเมื่อเราได้ทำสิ่งดีๆ นอกจากจะเป็นกำลังใจให้เรารับรู้ได้ถึงคุณค่าในตนเองแล้วยังเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เราได้รู้ว่าผู้อื่นกำลังคาดหวังสิ่งใดจากเรา คำขอบคุณจึงมีคุณค่าทั้งในเชิงนามธรรม คือ ทำให้ผู้ที่ได้รับคำชมรู้สึกได้ถึงคุณค่าต่างๆ อาทิ ดี เก่ง รับผิดชอบ และมีคุณค่าในเชิงรูปธรรมคือ การบ่งบอกว่า การส่งงานตรงเวลา การพูดจาสุภาพ คือสิ่งที่สังคมตรงนั้นตอนนั้นพึงพอใจ
การได้รับคำขอบคุณจึงสะสมเป็นความหมายในตัวตนและสะสมเป็นทักษะทางสังคมที่เรารู้ กาละ และ เทศะ ว่าสิ่งไหนควรทำในเวลาไหนและกับใคร
หากแต่กว่าจะได้รับคำขอบคุณจากผู้อื่นอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด อาจเป็นเพราะ…
1.เพราะผลที่ “ดี” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน การที่หลายครั้งเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า เหมาะแก่การได้รับคำชื่นชมไม่ว่าจะทั้งกับหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัว แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองใดๆเพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้สัมผัสถึงคุณค่าในความ “ดีพอ” ของสิ่งเหล่านั้น เพราะการตีความระดับความดีวัดไม่ได้ และไม่เท่ากัน
2.การขอบคุณขึ้นอยู่กับอารมณ์ผู้พูด ถึงแม้ผู้อื่นอาจเห็นได้ว่าสิ่งที่เราได้ทำลงไปเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า แต่หากเขาเหล่านั้นยังรู้สึกกังวลใจ หรืออาจอิจฉาในใจ การเอ่ยปากชื่นชมหรือขอบคุณเรานั้นคงไม่ง่าย หรือแสดงออกมาอย่างไม่จริงใจซึ่งสามารถเห็นได้จากการแสดงออกทางน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง
3.การขอบคุณอย่างมีคุณภาพมักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะการขอบคุณในสิ่งที่เราทำได้ดีมักปะปนมากับสิ่งเหล่านี้ ขอบคุณปนเปรียบเทียบ เช่น ทำดีมาก แต่จะดีกว่านี้ถ้าทีมเราได้เป็นอันดับหนึ่งในบริษัท ,ขอบคุณปนสอน เช่น ขอบคุณนะที่ร่วมกันสร้างผลงานแต่การที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เราต้องไม่ใส่ใจคำขอบคุณเราควรมองหาสิ่งที่ยังทำไม่ได้เพื่อพัฒนาตัวเอง ,ขอบคุณปนความคาดหวังครั้งใหม่ เช่น ขอบคุณนะที่ทำยอดได้ทะลุเป้าแต่จะดีกว่านี้ถ้าทำได้เท่ากับยอดของปีก่อน การขอบคุณและชื่นชมที่มีเงื่อนไขมักทำให้คนฟังรู้สึกสับสนไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนได้ทำลงไปนั้น “ดีพอหรือเปล่า”
จะดีอย่างไร ถ้าหากสามารถ “ชื่นชม” และ “ขอบคุณตัวเอง” ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการที่เราจะสามารถไปสู่การขอบคุณตนเองได้ต้องอาศัยทักษะหลายอย่าง เพราะการขอบคุณตนเองที่เกิดประสิทธิภาพต้องเป็นการขอบคุณที่มาจากความเชื่อในความสามารถของตนเอง และชื่นชมสิ่งเหล่านั้นด้วยความรู้สึกจริงใจ จึงจำเป็นต้องเรียรู้ทักษะต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.ในความเป็นจริงเราสามารถผิดพลาดได้เสมอทั้งจากตนเองและเหตุไม่คาดคิด การฝึกทักษะ Self-Kindness คือ การให้อภัยต่อความล้มเหลวและข้อบกพร่องของตนเอง ด้วยความอ่อนโยนและอดทนต่อตนเอง ช่วยให้บุคคลเกิดการรับรู้ตนเองตามความเป็นจริงและลดความคิด ตำหนิ ตัดสินตนเอง (Self-Bleam)
2. การเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า มนุษย์นั้นสามารถอ่อนแอได้ ไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบ และรับรู้ว่าความทุกข์ที่ตนเองเจอเป็นประสบการณ์ร่วมที่ผู้อื่นก็ประสบเช่นเดียวกัน
3.Awareness คือ การมีสติตระหนักรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รับรู้ความคิดและความรู้สึกอย่างเท่าทันเพื่อการสงบระบบสัญชาตญาณทั้งในขณะที่กำลังเศร้าเพราะผิดพลาด กังวลปนเครียดเพราะมีความคาดหวัง
4.เมื่ออารมณ์สงบ เราจะมีความสามารถในการมองหา “ข้อดี” และ “ข้อจำกัด” ของตนเองอย่างตรงไปตรงมา “ชื่นชม” สิ่งที่ทำได้ดีเพื่อชูใจ ทบทวนข้อจำกัดเพื่อการเริ่มต้นใหม่กับบางสิ่ง
5.positive self-talk คำขอบคุณที่ดีไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับความสำเร็จเท่านั้น เพียงกล้าหาญในการลงมือทำและประเมินตนเองก็มากพอสำหรับการขอบคุณตนเองด้วยถ้อยคำและน้ำเสียงในแบบฉบับของตัวเอง
6.ในบางคนจะมีความรู้สึกกังวลใจและมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการชื่นชมตนเองว่า “ชมมากไปใจจะเหลิงและไม่พัฒนา” ในขณะที่ความจริงใจ และซื่อสัตย์คือใจความสำคัญของการชื่นชมและขอบคุณตนเอง หากเราเคยใช้คำสำหรับชื่นชมและขอบคุณคนที่ดีกับเราอย่างไร เราควรจะจริงใจและยุติธรรมกับตนเองที่จะชื่นชมตนเองเช่นอย่างนั้น เมื่อเราสามารถทำหรือตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ
พันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น