“VUCA World” โลกที่ว่องไว กับทักษะใจที่ต้องเท่าทัน

VUCA World”  โลกที่ว่องไว กับทักษะใจที่ต้องเท่าทัน

โลกตอนนี้เปลี่ยนไปอย่างไร

V- Volatility คือ ความผันผวนสูง การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว สถานการณ์หรือสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง และรวดเร็ว ไม่สามารถคาดเดาหรือทำนายได้ หรือเป็นสถานการณ์เปลี่ยนฉับพลัน แบบตั้งตัวไม่ทัน หรือรวดเร็วมาก เช่น ซึ่งในปัจจุบันคือ Disruptive innovation นวัตกรรมที่พลิกผัน อัตราการเปลี่ยนแปลงสูง (High rate of change)

U-Uncertainty คือ สภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง คาดการณ์ได้ยาก ขาดความชัดเจน ไม่สามารถหาข้อมูลที่ชัดเจน มายืนยันในแต่ละสถานการณ์ได้ ทำให้ยากต่อการตัดสินใจ เพราะโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนสูง (Unclear about the present)

C-Complexity คือ ความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เชิงระบบ มีปัจจัยมากมายและซับซ้อนต่อการตัดสินใจ (Multiple key decision factors)

A-Ambiguity คือ ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจน (Lack of clarity about meaning of an event)

“VUCA World”  ส่งผลอย่างไรกับใจเรา

1.ความเครียดกับการปรับตัว มนุษย์มีความคาดหวังต่อตนเองต่อความสำเร็จ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงเป้าหมายย่อมเปลี่ยนไปส่งผลต่อแรงกดดันในการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลงเร็วเท่าไหร่การต้องใช้กำลังเพื่อประคองตนเองให้อยู่ในเป้าหมายย่อมต้องมากตามเท่านั้น สะสมเปลี่ยนความเครียดประจำวันที่อาจแสดงออกมาทางร่างกายที่ปวดตึง การถอนหายใจ การกินการนอนที่เปลี่ยนไป การคิดวกวน เป็นต้น

2.ความไม่แน่นอนส่งผลต่อความกังวล เชื่อว่าหลายคนคงเคยรู้สึกกังวลกับความไม่แน่นอน เช่น “พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร” “เขาจะโอเคกับเราหรือไม่” ซึ่งความกังวลใจดังกล่าวคงส่งผลกับความทุกข์ใจไม่น้อย ใจที่สั่น ความคิดที่หยุดได้ยาก ความจดจ่อในงานที่ลดลงเพราะเฝ้าคิดถึงสิ่งแย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้น แต่ความกังวลใจที่เราอาจต้องเผชิญต่อจากนี้คือ “ความไม่แน่ใจในโลกใบนี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป” คงส่งผลต่อความหวาดหวั่นใจไม่น้อย

 3.ความกังวลและกดดันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ในขณะที่โลกปัจจุบันมีความซับซ้อน และคลุมเครือ ไม่อาจคาดเดาได้อย่างชัดเจนถึงผลของการกระทำ ยิ่งทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะเดิมที่เคยทำได้อาจถูกริดรอนลงด้วยระดับอารมณ์ลบระดับสูงที่รบกวน ส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาจริง และปัญหาใจไปพร้อมๆ กัน

4.สะสมเป็นการกล่าวโทษตนเอง เมื่อเกิดความผิดพลาดจากการตัดสินใจและแก้ปัญหาซ้ำๆ แม้ว่าต้นเหตุอาจมาจากความกังวลและกดดันแต่ไม่มีหลักฐานชิ้นใดจะชัดเจนและเหมาะสมกว่าการกล่าวโทษตนเองเมื่อทำผิดพลาด จึงเกิดเป็นความเศร้าและอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพใจในระยะยาว

เพราะอะไรทักษะการรู้เท่าทันจึงจำเป็น?

การรู้เท่าทัน คือ ทักษะที่ฝึกฝนเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างถูกถ้วนทั้งในด้านร่างกาย ความรู้สึก ความคิด คุณค่า เจตนา เป้าหมาย ทั้งยังเป็นทักษะพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้สามารถพัฒนาไปสู่ทักษะอื่นๆ เนื่องจากเมื่อสามารถเข้าใจตนเอง นำไปสู่การสงบระบบสัญชาตญาณเพื่อนเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้

 ทักษะการรู้เท่าเท่าฝึกฝนอย่างไร?

ทักษะการรู้เท่าทันมีหลายวิธีการ ซึ่งมีวิธีการฝึกการเรียนรู้ “ขณะปัจจุบัน” ผ่านการตั้งคำถามกับตนเอง เป็นการช่วยให้เกิดสภาวะ “ตื่นรู้ และเข้าใจปรากฏการณ์บางอย่างกับตนเอง” ในการฝึก บรรยากาศค่อนข้างสำคัญหากสามารถอยู่ในสถานที่สงบ ลดการรบกวนได้จะช่วยการเรียนรู้กับตนเองได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคำถามช่วยให้ตกตะกอนสิ่งที่เรียนรู้ชนิดเนื้อหาไปพร้อมๆ กับสิ่งที่สัมผัสได้ ซึ่งชุดคำถามประกอบด้วย

1.ขณะนี้ฉันทำอะไร ลองค่อยๆ ทบทวนตนเองถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ เสมือนกำลังมีกล้องวงจรปิดจับตาดูการกระทำของเราอย่างใกล้ชิดและละเอียด เห็นทุกซอกทุกมุมของการกระทำแม้กระทั้งมือที่กำลังจับปากกาแน่น

2.ขณะนี้ฉันสัมผัสได้ถึงสิ่งใด ก่อนทบทวนตนเอง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแยกให้ชัดเจนระหว่าง “ดูกับเห็น ฟังกับได้ยิน” เพราะการสัมผัสคือการปล่อยให้ประสาทสัมผัสของร่างกายทั้ง ตา หู จมูก ช่องปาก ผิวหนัง รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นโดยลดเจตนาที่จะตีความหรือจับจ้อง ทบทวนเพียงสิ่งที่ผ่านเข้ามา อาทิ ปากกาสีแดง ผ้าผืนนุ่ม ลมที่พัดกระทบผิวแขน เป็นต้น

3.ขณะนี้รู้สึกอะไร ความรู้สึกเป็นคำสามัญ ที่พูดกับคนอื่นๆ แล้วพอเข้าใจได้ว่า อีกคนกำลังรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกมีระดับ มาก ปานกลาง น้อย หรืออาจมีตัวเลข 1-10 ซึ่งตัวเลขแต่ละตัวของแต่ละคนมีความพิเศษคือไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่การได้รู้ว่าขณะนี้เรากำลังรู้สึกอะไรนับเป็นการเข้าใจตนเองที่ดี

4.ความรู้สึกเมื่อสักครู่มาจากความคิดอะไร ความรู้สึกมีที่มาจากความคิด ซึ่งความคิดจะมาในรูปแบบของประโยคบอกเล่าซึ่งเป็นประโยคที่ใช้บอกกล่าวกับตนเอง ผู้อื่น หรือโลกใบนี้ อาทิ บอกตนเองว่า ฉันแย่ ฉันไม่เก่ง อาจส่งผลต่อความรู้สึกเศร้า มีความคิดว่าโลกนี้น่ากลัว คนบนโลกไม่น่าไว้ใจ อาจส่งผลต่อความรู้สึกหวาดหวั่นและกังวล ดังนั้นการรู้ทันความคิดอาจเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย แต่ได้ประโยชน์ในการเผชิญกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

5.ฉันต้องการสิ่งใด ในช่วงเวลาเท่าไหร่ การทบทวนความต้องการของตนเอง ควรเริ่มจากสิ่งที่ง่ายในระยะสั้น เช่น เช้านี้ ฉันต้องการทำสิ่งใด วันนี้ฉันต้องการให้อะไรสำเร็จลุล่วง ก่อนกำหนดสิ่งที่เป็นเรื่องระยะไกลที่มีความยากหรือซับซ้อน เพราะ “ความต้องการ” มักมาจากสิ่งที่ขาดหายและสิ่งที่อยากได้ ซึ่งต้องใช้พลังงานมาก

การฝึกทบทวนตนเอง เพื่อการตระหนักรู้ มีเป้าหมายเพียงเพื่อรู้และสงบระบบสัญชาตญาณ เพื่อดึงเอาศักยภาพเดิมของตนเองที่มีอยู่แล้วกลับมาจากสภาวะทางจิตใจที่อ่อนไหว การตระหนักรู้ไม่ใช่การจับจ้องแต่เป็นการเฝ้ามองอย่างอ่อนโยนและรู้ตัว ในวันที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างว่องไว

 

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น