การคุมกำเนิดแบบไหนเหมาะกับเราที่สุด

การคุมกำเนิดแบบไหนเหมาะกับเราที่สุด

จุดมุ่งหมายของการคุมกำเนิดคือการป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ สามารถคุมได้โดยไม่ให้อสุจิและไข่มาอยู่ด้วยกัน หยุดการผลิตของไข่ หรือหยุดไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจากการฝังตัวกับเยื่อบุมดลูก การคุมกำเนิดมีหลายชนิด สามารถแบ่งได้ตามวิธีการคุม  ดังนี้

ทางพฤติกรรม คือวิธีการคุมที่คู่นอนตัดสินใจทำด้วยกันเพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ 

 

ทางสิ่งกีดกั้น คือวิธีการคุมที่ป้องกันไม่ให้อสุจิเข้าถึงไข่ เช่น หมวกครอบปากมดลูกที่มากับยาฆ่าเชื้ออสุจิ ถุงยางอนามัยชาย ถุงยางอนามัยหญิง 

 

ทางฮอร์โมน คือวิธีการคุมที่เปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิง เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดโพรเจสติน

 

ทางการแพทย์ คือวิธีการคุมที่เปลี่ยนแปลงร่างกาย เช่น การทำหมันหญิง การทำหมันชาย ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดทองแดง

การคุมกำเนิดแบบไหนเหมาะกับเราที่สุดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกการคุมกำเนิดที่เหมาะกับผู้ใช้มีดีงนี้ 

1 ประสิทธิภาพและระยะเวลาในการคุม

การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด (มากกว่า 99%) คือ ยาฝังคุมกำเนิดที่อยู่ได้ถึง 3 ปี ห่วงอนามัยคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินชนิดลีโวนอร์เจสเตรลรวมอยู่ด้วยที่อยู่ได้ถึง 5 ปี ห่วงอนามัยคุมกำเนิดที่อยู่ได้ 5 ถึง 10 ปี และการทำหมันที่อยู่ได้ตลอดชีวิต ในส่วนที่มีการคุมต่ำ (น้อยกว่า 95%) คือ ถุงยางอนามัยหญิงและไดอะเฟรมที่ต้องใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้แล้วยังมียาฉีดและยาเม็ดคุมกำเนิดในกรณีที่ใช้ผิดวิธี

2 ความสามารถในการทำให้การคุมกำเนิดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

หากเป็นคนที่มีโอกาสน้อยที่จะลืมการคุมกำเนิด สามารถใช้การคุมกำเนิดแบบรายวัน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ได้ ตัวอย่างเช่น การถุงยางอนามัย แต่ถ้าหากไม่ใช่คนกลุ่มนี้ สามารถใช้การคุมกำเนิดแบบยาฝังคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด หรือแผ่นแปะคุมกำเนิด

3 ความถี่ในการคุมกำเนิด

การคุมกำเนิดบางชนิดไม่ต้องใช้ทุกวันหรือทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และบางชนิดไม่ต้องเปลี่ยนเป็นรายเดือนหรือปี ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความถี่และวิธีคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง

4 ประเภทของการคุมกำเนิด

บางชนิดเป็นแบบที่ต้องสอดเข้าช่องคลอดด้วยตัวเอง เช่น ไดอะเฟรม หมวกครอบปากมดลูกที่มากับยาฆ่าเชื้ออสุจิ และวงแหวนสอดช่องคลอดคุมกำเนิด หรือต้องให้แพทย์สอดเข้าไปในมดลูกผ่านทางช่องคลอด เช่น ห่วงอนามัยคุมกำเนิดและห่วงอนามัยคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินชนิดลีโวนอร์เจสเตรลรวมอยู่ด้วย

5 ผลกระทบของการคุมกำเนิดต่อประจำเดือน

การคุมกำเนิดบางชนิดสามารถส่งผลต่อประจำเดือนได้ ทำให้มาไม่ปกติ

6 นิสัยและพฤติกรรม (เช่น การสูบบุหรี่)

การคุมกำเนิดบางชนิด เช่น วงแหวนสอดช่องคลอดคุมกำเนิดและแผ่นแปะคุมกำเนิด ไม่เหมาะกับผู้ที่สูบบุหรี่และมีอายุมากกว่า 35 ปี

7 โรคประจำตัว (เช่น โรคอ้วน)

แม้ว่าการคุมกำเนิดส่วนมากไม่มีผลต่อน้ำหนัก การคุมกำเนิดบางชนิด เช่น การใช้ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นเวลา 2 ปีขึ้นไปมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในปริมาณเล็กน้อย

8 ความเหมาะสมในการใช้การคุมกำเนิดแบบประเภทยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน

ยาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิดมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างขึ้นโดยธรรมชาติของผู้หญิง แต่ยาเม็ดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเหล่านี้ไม่เหมาะกับผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม

9 ความเหมาะสมในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว 

ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีเพียงเอสโตรเจนไม่เหมาะกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีและสูบบุหรี่ มีภาวะน้ำหนักเกินอย่างมาก กินยาบางชนิด หรือ มีโรคประจำตัวบางอย่าง 

10 โรคประจำตัวและยาที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

การคุมกำเนิดบางวิธีอาจไม่เหมาะกับยาบางชนิด ซึ่งส่งผลกระทบลดประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดได้

11 ความต้องการที่จะตั้งครรภ์ในอนาคต 

สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากหยุดการคุมกำเนิด แต่ในบางชนิดอาจต้องใช้เวลาจนกว่าภาวะเจริญพันธุ์จะกลับมาเป็นปกติ

ท้ายที่สุดแล้ว การคุมกำเนิดขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะสุขภาพ พฤติกรรม คู่นอน ความต้องการที่จะมีลูก แต่สิ่งสำคัญที่ควรทำ คือ แม้ว่าจะมีการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังควรมีการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ควรปรึกษาผู้ให้บริการด้านสุขภาพเพื่อที่จะได้เลือกรูปแบบการคุมกำเนิดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ

Content and Artwork creator:

นางสาวกันต์กนิษฐ์ รุ่งอนันต์ชัย คณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

Editor:

นางสาวสุพิชฌาย์ อนุวงศ์วรเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

References:

Abedin, S. (2015, September 2). Best Birth Control. WebMD; WebMD. https://www.webmd.com/sex/birth-control/best-effective-birth-control

NHS Choices. (2022). What is contraception? – Your contraception guide. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/what-is-contraception/

NHS Choices. (2022). Which method of contraception suits me? – Your contraception guide. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/which-method-suits-me/

RSA Thai. (2018). สถานบริการที่ให้บริการยาฝังคุมกำเนิด. https://www.rsathai.org/contraceptive-implant/